เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดจีดีพีปี 57 โต 3% ชี้กลางปีไร้เงารัฐบาลตัวจริงอาจกดจีดีพีเฉียด 2%


 

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2557 โตที่ 3%  ไม่ถือว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย รอติดตามสถานการณ์ใน 1- 2 เดือนก่อนตัดสินใจจะปรับใหญ่หรือไม่ มีการเมืองเป็นเป้าใหญ่ ชี้หากกลางปียังไม่มีรัฐบาลตัวจริง อาจปรับประมาณการใหญ่เกินกว่า 0.4-0.5% พร้อมลุ้นส่งออกฟื้น ปัญหาภัยแล้ง ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียและเศรษฐกิจสหรัฐ  ส่วนประชุมกนง.รอบใหม่คาดยืนดบ.นโยบายต่อ

 

 

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2557 ว่า  มีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีโอกาสจะยืดเยื้อ โดยขณะนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(GDP)ไว้ที่ 3%  สะท้อนจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจภาคครัวเรือนที่ย่ำแย่ ผู้บริโภคกังวลการใช้จ่าย การบริโภคเอกชนและการลงทุนภาครัฐติดลบและปัญหาการเมืองที่ยังยืดเยื้อ รอดูเหตุการณ์ในช่วง 1-2 เดือนหรือในเดือนมีนาคมและเมษายน ซึ่งจะมีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างให้ต้องติดตามและจะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจ ความชัดเจนในช่วงเดือนเมษายนอาจมีผลต่อการปรับประมาณการใหม่

ทั้งนี้เหตุการณ์ที่จะทำให้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังให้ความสำคัญกับสถานการณ์การเมือง เป็นลำดับแรก โดยชี้ว่า หากภายในกลางไตรมาส 2 ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่า กลางปีจะมีรัฐบาลตัวจริง มีอำนาจเต็ม อาจทำให้ต้องปรับประมาณการใหญ่ไปเกินกว่า 0.4-0.5%   เพราะการคาดการณ์จีดีพีที่ 3%  มาจากมุมมองที่ว่า ไทยมีรัฐบาลภายในกลางปี แต่หากความขัดแย้งทางการเมืองลากยาวเกินช่วงครึ่งปีแรก จะส่งผลให้แรงฉุดรั้งเศรษฐกิจยิ่งมีความซับซ้อนในครึ่งปีหลังและอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลงต่ำเข้าใกล้ระดับ 2% (ในกรณีไม่มีเหตุปะทะรุนแรง)

 

 

 

 

ดร.พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองมีสัญญาณในทางบวกอยู่บ้าง เช่น เริ่มมีการพูดถึงการเจรจา มีการคืนพื้นที่ผิวจราจร ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ แต่ถ้าไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มภายในกลางปี จะทำให้ครึ่งปีหลังซับซ้อน โดยจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายสำคัญ ๆ การแก้ปัญหาปากท้องประชาชน การลงทุนภาครัฐและการพิจารณาผ่านร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 2558 วาระแรก ซึ่งหากไม่ทันจะมีผลทำให้ไม่มีงบประมาณก้อนใหม่ที่เป็นการใช้จ่ายจากภาครัฐมาหนุนเศรษฐกิจในช่วงท้ายปี

เหตุการณ์ที่ 2  มาจากการส่งออกในรูปดอลลาร์ ที่เดือนมกราคมติดลบ 2%  ถ้าภายในไตรมาสแรก ส่งออกยังไม่กลับมาเป็นบวก จะทำให้ประมาณการทั้งปีต่ำกว่า 5% ตามที่คาดหวังไว้  นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับสถานการณ์ภัยแล้งในไทยและต่างประเทศ ที่หากมีความรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชน้ำมันและทำให้ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น มาซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคและหากเกิดขึ้นยาวนานกว่าที่คาดอาจกระทบต่อภาวะค่าครองชีพของครัวเรือน และอาจมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อตามมาและกระทบบรรยากาศการใช้จ่ายได้ ขณะเดียวกันภาวะการขาดแคลนน้ำยังกระทบต่อกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมในบางพื้นที่ด้วย

 ดร.พิมลวรรณยังกล่าว ขณะนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยไม่ได้มองว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ถ้าไตรมาสแรกเศรษฐกิจหดตัว 3 เดือนติดต่อกันและไตรมาสที่ 2 ภาคส่งออกไม่ได้ฟื้นมาช่วยก็อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ส่วนการคืนพื้นที่จราจรส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกเดินหน้า แต่การเมืองยังกดดันความเชื่อมั่นในการจับจ่ายของผู้บริโภคอยู่  อย่างไรก็ตามหากยกเลิกพรก.ฉุกเฉินได้จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวมาก ซึ่งในเดือนมกราคมมีการขยายตัวต่ำมาก จากเดิมเคยขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลัก เพราะมีหลายประเทศประกาศเตือนการเดินทางมาไทยและยังมีผลรองรับต่อการทำประกันภัยด้วย  

สำหรับมุมมองในแง่ดีสุดกรณีที่ไทยสามารถมีรัฐบาลได้ในช่วงกลางปี ดร.พิมลวรรณกล่าวว่า รัฐบาลใหม่อาจจะไม่ได้มีบทบาทมาผลักดันนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก แต่เน้นที่การปฏิรูปแทน อย่างไรก็ตามจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้และส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว ไม่ต้องมีการปรับประมาณการจีดีพี การใช้จ่ายน่าจะฟื้นตัวได้เร็วแม้จะไม่โดดเด่นมากนัก เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยภาคเอกชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ทางด้านดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับปัจจัยอื่นที่ยังต้องจับตามองใน 1-2 เดือนข้างหน้ายังรวมถึงวิกฤตความขัดแย้งในยูเครนและรัสเซียที่อาจกระทบไทยโดยทางอ้อมได้เนื่องจากยูเครนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่ง โดยส่งไปยุโรป เหตุความขัดแย้งนี้อาจมีผลทำให้ราคาพลังงานน้ำมันและก๊าซสูงขึ้นและมีผลกดดันเงินเฟ้อตามมา

ขณะเดียวกันยังต้องจับตาเศรษฐกิจสหรัฐอีกเช่นกัน ว่ายังเดินหน้าไปได้หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ในการเดินหน้าลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) โดยคาดว่า ใน 2 เดือนน่าจะเห็นได้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวจัด ถ้าตัวเลขบ่งชี้เศรษฐกิจฟื้น เฟดก็จะเดินหน้าลด QE ต่อไปได้ แต่ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจไม่ดีก็อาจมีผลให้เฟดต้องชะลอหรือหยุดลด QE  ซึ่งจะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนและการลงทุนได้ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งของยูเครนและรัสเซียรุนแรงขึ้น คนจะกลับไปถือครองดอลลาร์เพิ่มขึ้น รวมถึงเยนญี่ปุ่นและทอง ในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย

ดร.เชาว์  ยังให้มุมมองด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะประชุมในวันที่ 12 มีนาคมนี้ โดยคาดว่า กนง.จะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมไปก่อน คือที่ 2.25% เนื่องจากเวลานี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับใกล้กัน  ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพยังมี จึงมีช่องให้ใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากนักและยังต้องจับตาดูการเมืองใกล้ชิด

ส่วนด้านเงินฝากของภาคธนาคารในปีนี้คาดว่า จะชะลอตามเศรษฐกิจที่คาดการณ์จีดีพีโต 3%  โดยเงินฝากอาจเติบโตที่ประมาณ 8-9% จากปีที่แล้วประมาณ 10% สอดพ้องกับสินเชื่อที่คาดว่าปีนี้จะเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวเช่นักนที่ 8-9% จาก 13-14%  ในปีที่แล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 


LastUpdate 03/03/2557 23:29:35 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 10:50 pm