เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
TMB ยืนมุมมอง กนง. คงดอกเบี้ย 2.25%หลังการเมืองผ่อนคลาย


 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองยังไม่จำเป็นต้องผ่อนปรนนโยบายการเงินเพิ่มเติม แม้ภาพเศรษฐกิจแผ่ว แต่ไม่ถึงขั้นอ่อนแอ ส่วนการเมืองมีสัญญาณดีขึ้น คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ในการประชุมวันที่ 12 มีนาคม ที่จะถึงนี้

 
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ยืนมุมมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 2.25 เกือบตลอดทั้งปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นระดับผ่อนคลายเพียงพอที่จะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ในขณะที่ยังถือว่าไม่ผ่อนคลายมากเกินไปจนกระทั่งเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งศูนย์วิเคราะห์ฯ มีความเห็นสอดคล้องกับรายงานประชุม กนง. ครั้งก่อนว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่กำลังส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้น เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น ซึ่งพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังสามารถรองรับได้
ทางด้านภาพรวมเศรษฐกิจนับตั้งแต่ประชุม กนง. เมื่อ 22 มกราคม รายงานตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน ซึ่งต้องยอมรับว่าบางส่วนเป็นผลจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียด ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนและดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวในช่วงผ่านมา ส่วนหนึ่งถูกกระทบมาจากยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์นั่งเชิงพาณิชย์ที่ลดลงมาก หลังจากได้มีการเร่งซื้อไปก่อนหน้าที่นโยบายรถคันแรกสิ้นสุดลง อาจบิดเบือนภาพของการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน ขณะที่องค์ประกอบอื่นด้านเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนไม่ได้ส่งสัญญาณการชะลอตัวลงทั้งหมด
 
นอกจากนี้ แม้ความไม่สงบทางการเมืองอาจทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม แต่จากตัวเลขของภาคการคลังระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 การเบิกจ่ายยังคงขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.5 ซึ่งในส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนนั้นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ทำให้เม็ดเงินจากภาครัฐนั้นไม่ได้สูญหายไปจากระบบทั้งหมดอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
 
ส่วนความหวังหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้จากการส่งออก แม้ตัวเลขมกราคมหดตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี ทำให้มีข้อกังขาว่าการส่งออกจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหมือนจะเลือนลาง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า การหดตัวลงเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง และการส่งออกหมวดยานยนต์ที่หดตัวถึงร้อยละ 22.0 จากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ได้เปลี่ยนโมเดลใหม่ในผลิตภัณฑ์หลายตัว ทำให้เกิดรอยต่อของการส่งออก ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพียงชั่วคราวเท่านั้น ในขณะที่การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ากลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งในด้านตลาดส่งออก การส่งออกไปยังคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นล้วนมีการขยายตัว ช่วยผลักดันการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
 
อีกปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวลคือเงินเฟ้อ แม้ว่าในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็พลิกกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ เร่งตัวขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.22 ต่อปี ขยายตัวเกินกว่าเท่าตัวจากร้อยละ 0.61 ในเดือนกันยายนปีก่อน ซึ่งนับว่าเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ กนง. ต้องให้น้ำหนัก มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านราคาในระยะถัดไปได้
 
ทั้งนี้ ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า การชะลอตัวเพิ่มเติมของเศรษฐกิจในช่วงต้นปี เป็นผลมาจาการขาดความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้ อาจทำให้กลไกการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจไร้ประสิทธิผล อีกทั้งความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองที่คลายตัวลงบ้างในปัจจุบัน หลังทั้งสองฟากของความขัดแย้งเริ่มหันหน้ามาเจรจากัน นับว่าเป็นสัญญาณบวกที่อาจชี้ถึงพัฒนาการของสถานการณ์ไปในทางที่ดีขึ้นได้ หากความวุ่นวายจบลงโดยเร็ว ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนก็จะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงเวลาอันสั้น ดังนั้น ปัจจัยที่เสริมให้มีการคงดอกเบี้ย น่าจะยังมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยทางด้านที่หนุนให้มีการลดดอกเบี้ย จึงอาจเร็วเกินไปที่ กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยในครั้งนี้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 มี.ค. 2557 เวลา : 18:08:12
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 8:49 am