แบงก์-นอนแบงก์
บิ๊ก "สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด" สั่งจัดทัพใหม่ ตั้งป้อมกวาดธุรกิจ 5 ประเทศ "ลุ่มแม่น้ำโขง"


 
ซีอีโอกรุ๊ป “สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด” ปรับโครงสร้างธุรกิจอาเซียน เลื่อนชั้น 5 ประเทศเข้ากลุ่ม “ลุ่มแม่น้ำโขง” รองรับโอกาสธุรกิจต่างชาติขยายเข้าลงทุนเพิ่ม มั่นใจเครือข่ายแข็งแกร่ง ชงแผนปูทางรับเออีซี
 
 
 
 
 
นายปีเตอร์ แซนด์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับแผนการทำธุรกิจใน 5 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ไทย เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว ขึ้นเป็นกลุ่มภูมิภาคใหม่ภายใต้แผนธุรกิจเขตลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Region) เพื่อยกระดับความสามารถทางธุรกิจให้เข้าไปทำตลาดในภูมิภาคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากธนาคารนับเป็นธนาคารต่างชาติเพียงแห่งเดียวที่มีธุรกิจอยู่ในกลุ่มนี้ครบทั้ง 5 ประเทศแล้ว
 
“เรามองว่าโอกาสในตลาดนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นจากธุรกิจจำนวนมากขยายเข้ามาในกลุ่มนี้มากขึ้นและมีปริมาณเงินลงทุนเข้ามามากขึ้น โดยข้อมูลในปี 2555 กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาถึง 2,100 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 19% ของปริมาณเงินลงทุนโดยตรงที่เข้ามาในอาเซียน”
 
เขากล่าวอีกว่า ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เงินลงทุนจากต่างประเทศยังมีทิศทางไหลเข้ามาลงทุนได้เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากศักยภาพด้านทรัพยากรที่ยังอุดมสมบูรณ์ แรงงานมีฝีมือที่อัตราค่าแรงขั้นต่ำยังถูกกว่าอีกหลายๆ ประเทศ และมีประชากรมากกว่า 230 ล้านคน ถือว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประชากรในอาเซียนที่มีราว 600 ล้านคน
 
นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับประเทศใหญ่อย่างจีนและอินโดนีเซียนั้น ประเทศไทยก็ยังได้เปรียบในแง่ศักยภาพของกำลังการผลิตที่มีสูงสุดในกลุ่มลุ่มน้ำโขงและเชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆ ได้กว้าง รวมถึงโครงสร้างใหม่นี้จะรองรับไปถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ด้วย ซึ่งธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ก็มีธุรกิจอยู่ครบทั้ง 10 ประเทศในอาเซียนแล้วเช่นกัน
 
 
 
 
การปรับโครงสร้างดำเนินธุรกิจขึ้นเป็นอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงดังกล่าว จะอยู่ภายใต้การบริหารงานของนางลิน ค็อก กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ซึ่งจะรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจในเขตลุ่มแม่น้ำโขงควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการเข้ามาลงทุนของธุรกิจต่างๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำโขงที่มักใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจเช่นกัน และมั่นใจว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะยิ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในไทยด้วย
 
“ส่วนประเด็นทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยนั้น เรามองว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศย่อมมีปัญหา แม้แต่ภาพของเศรษฐกิจโลกเองก็เจอปัญหาอยู่ตลอด มีทั้งขึ้น-ลงไปตามวัฏจักรของธุรกิจ สำหรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในไทยก็เชื่อว่ายังมีเสถียรภาพและปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เรามองในระยะยาวว่ายังเติบโตต่อไปได้ ซึ่งเหตุการณ์ในวันนี้ก็น่าจะผ่านไปได้เช่นกัน”
 
นายแซนด์สยังกล่าวถึง แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนว่าจะกลับมาเติบโตอย่างโดดเด่นอีกครั้งในปี 2557 หลังจากปีที่ผ่านมามีปริมาณการค้าภายในอาเซียนเติบโตขึ้นถึง 26% หรือคิดเป็นมูลค่าการค้าถึง 323,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากดีมานด์ของต่างประเทศที่จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกลุ่มประเทศในอาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
 
นอกจากนี้ โครงสร้างการทำธุรกิจของกลุ่มสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ยังแบ่งเป็นกลุ่มภูมิภาคต่างๆ ประกอบด้วย เกรทเตอร์ไชน่า อาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ปากีสถาน แอฟริกา ยุโรปและอเมริกา
 

LastUpdate 21/03/2557 13:12:42 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:17 pm