เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เสียงสะท้อนหลังเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ


 

 
 
 
หลังคำวินิจฉัยของของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติด้วยคะแนน 6 ต่อ3  ตัดสินให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้เป็นโมฆะ เนื่องจากการเลือกตั้งไม่ได้เกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร  และหากจัดการเลือกตั้งทั้ง 28 เขตอีก  ก็ไม่เป็นผลให้การเลือกตั้งเป็นการทั่วกัน    จึงถือว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรค 2
 
 
 
 
 
มุมมองจากนายศุภชัย   สมเจริญ  ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  บอกว่า กกต.น้อมรับ คำวินิจฉัยของศาลฯ เพราะผูกพันทุกองค์กร  ซึ่งกกต.ก็จะหารือกับพรรคการเมือง เพื่อหาวันเลือกตั้งที่เหมาะสมใหม่คล้ายกับปี 2549  ซึ่งคาดว่า  จะใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ถึงจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้   โดยยืนยันว่า หากสถานการณ์ไม่สงบและรุนแรงก็ไม่ควรที่จะจัดการเลือกตั้ง เพราะจัดแล้วจะทำให้เสียเงินภาษีของประชาชนโดยเปล่าประโยชน์
 
 
 
 
ด้านภาคธุรกิจ  นายพรศิลป์   พัชรินทร์ตนะกุล   รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า  การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญตัดสินที่ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้ เป็นโมฆะ ไม่ได้ทำให้สถานการณ์การเมืองดีขึ้น   แม้ตามกฎหมายต้องบังคับให้เลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน แต่ยังไม่รู้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่หรือถ้าจัดได้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะยอมลงเลือกตั้งหรือไม่
 
รวมทั้ง ก่อนจะถึง 45 วัน อาจเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาจชี้มูลความผิดนายกรัฐมนตรี ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าว   จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศมหาศาล ซึ่งจะมีผลให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง   แม้รัฐบาลเตรียมรองนายกรัฐมนตรีขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทน แต่ตามกฎหมายคงไม่สามารถทำได้ เพราะการแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนต้องดำเนินการเฉพาะรัฐบาลเป็นรัฐบาลตัวจริง ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการอย่างในปัจจุบัน ดังนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) คงต้องไปทั้งหมดเมื่อนายกฯ ถูกถอดถอน
 
 
 
 
ส่วนนายสุพันธุ์   มงคลสุธี    ว่าที่ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองลงสนามแข่งขันการเลือกตั้ง และพร้อมยอมรับผลการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และขอให้ กกต. จัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด  ภายใต้กรอบของกฏหมาย   เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่สามารถบริหารประเทศได้   ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้การเลือกตั้งรอบใหม่เกิดขึ้นภายใน 30 วัน และเชื่อว่า คนไทยพร้อมกับการเลือกตั้งอีกครั้ง เพื่อให้วิกฤตการเมืองยุติลง
 
 
 
 
ขณะที่นายธนวรรธน์  พลวิชัย    ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในมุมมองด้านเศรษฐกิจ   ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่จะดำเนินการเลือกตั้งตามกรอบของกฎหมายอีกครั้ง  และทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้   เพราะหากสามารถตั้งรัฐบาลได้ภายในไตรมาส 3 จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ร้อยละ 2-3 ตามกรอบที่ทางศูนย์พยากรณ์ฯ ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้   อย่างไรก็ตามช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาทางการเมืองทำให้ไทยสูญเสียเม็ดเงินจากระบบเศรษฐกิจแล้วประมาณ 4 แสน 2 หมื่นล้านบาท ถึง 4 แสน 3 หมื่นล้านบาท
 
ทั้งนี้หากสามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามปกติและทุกพรรคการเมืองเข้าร่วมจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง  แต่หากการเลือกตั้งใหม่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้  จะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจซบเซา   ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนอยากให้การเลือกตั้งเดินหน้าไปได้ด้วยดี แม้ว่าจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าไปบ้างแต่ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในปีหน้า(2558)
 

LastUpdate 22/03/2557 13:36:11 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 11:55 am