เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยยังอึมครึม เสี่ยงการเมืองลากลง


 

 

 

กูรูธุรกิจการเงินมองภาพเศรษฐกิจไทยยังอึมครึมในงานสัมนาใหญ่ประจำปีเพื่อลูกค้าสินเชื่อธุรกิจธนาคารเกียรตินาคิน ณ เมืองทองธานี ชี้การเมืองปัจจัยหลัก บล.ภัทรอาจปรับประมาณการเศรษฐกิจครึ่งแรกและครึ่งหลังของปีไม่ต่างกันที่ 0.6% จากสมมุติฐานที่ครึ่งหลังไม่อาจตั้งรัฐบาลได้ ด้านเกียรตินาคินเปิดสินเชื่อธุรกิจใหม่เพื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง ตั้งวงเงินปี 57 ไว้  700-800 ล้านบาท

 

 

 

 

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK) กล่าวระหว่างเปิดงานสัมนาใหญ่ประจำปีของธนาคารเกียรตินาคิน ณ เมืองทองธานีว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะท้าทายและความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง กลไกที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ทำงาน ทั้งในด้านการลงทุนจากภาครัฐที่เคยเป็นความหวังได้หยุดชะงักไป เนื่องจากรัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับการลงทุนของภาคเอกชนที่เป็นการลงทุนโดยตรงได้ชะลอออกไป ซึ่งกลุ่มที่รอได้เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็จะมีการลงทุน แต่กลุ่มที่รอไม่ได้ก็จะไปที่อื่นแทน นอกจากนี้การบริโภคได้ชะลอลงเช่นกัน  
 
 
 
 
“ความจริงแล้วไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีมาก ทั้งในแง่ของการมีทรัพยากร มีความหลากหลายทั้งภาคการเกษตร ตลาดไม่กระจุกตัว พื้นฐานทางการเงินดี รัฐบาลมีหนี้ต่ำ สถาบันการเงินยังมีความมั่นคง แต่เราไม่สามารถใช้พื้นฐานที่ดีนี้ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า” 

นายบรรยงยังกล่าวถึงกรณีที่มีบริษัทจัดอันดับเครดิตจะปรับมุมมองประเทศไทยว่า น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมองดังกล่าว

ด้านดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ทางภัทรอยู่ระหว่างการปรับประมาณเศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทย จากเดิมที่คาดว่า ในครึ่งปแรกจะเติบโตได้ 0.6% และเติบโตได้ 5%ในครึ่งปีหลัง หรือทั้งปีที่ 2.8% ภายใต้สมมุติฐานว่า จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในครึ่งปีแรก แต่สถานการณ์ในขณะนี้เชื่อว่า คงเป็นไปได้ยาก

โดยหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นโมฆะแล้วและการตีความต่อไปค่อนข้างชัดเจนว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปคงจะสำเร็จได้ยาก ขณะที่การเลือกตั้งสว. แม้ทำได้แต่สว.เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ยกเว้นจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7  แต่จะถูกคัดค้านและมีกองทัพออกมาดูแลความสงบเรียบร้อย ทำให้บรรยากาศของประเทศไม่ดีและเป็นไปได้ว่า ในครึ่งปีหลังยังไม่มีความแน่นอนว่า จะตั้งรัฐบาลได้เรียบร้อย ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจตามมา

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2557 นี้ ยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักที่คาดว่าจะเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประมาณไว้ที่ 4-5%  ส่วนจีดีพีครึ่งปีหลังเป็นไปได้ว่า อาจจะไม่แตกต่างจากครึ่งปีแรก ที่ ณ ระดับประมาณการ 0.6%  หรืออาจต้องปรับลดลงอีกด้วย

ดร.ศุภวุฒิยังกล่าวถึงกรณีการปรับมุมมองประเทศไทยของบริษัทจัดอันดับเครดิตนั้นว่า เท่าที่เห็นในขณะนี้มีอยู่ 2 บริษัท ได้แก่  ฟิทช์ เรทติ้งส์ และมูดี้ส์ ที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ซึ่งฟิทช์เปิดเผยว่า ถ้าไม่มีรัฐบาลในครึ่งหลังจะปรับมุมมอง (Outlook) ส่วนมูดี้ส์เปิดเผยว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจเป็นขาลง อาจปรับมุมมองเหมือนกัน ซึ่งเป็นกระบวนการปกติ หากมีการปรับมุมมองแล้วและเป็นไปตามมุมมองนั้น ก็จะลดอันดับเครดิตใน 1 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้จากสภาวะความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นนั้น จากที่ฟังความเห็นจากนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่นแล้ว ประมวลได้ว่า  นักลงทุนญี่ปุ่นยังเก็บประเทศไทยไว้เพื่อรอการลงทุนอยู่ภายใต้การคาดการณ์ว่า จะมีระฐบาลใน 2-3 เดือน แต่ถ้าหากการจัดตั้งลากยาวไปถึง 6-12 เดือน เขาอาจต้องพิจารณาทบทวนการลงทุนกันอย่างขนานใหญ่ ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของไทย
 
 
 
 
ในโอกาสเดียวกันนี้นายศราวุธ จารุจินดา ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ได้เปิดตัวสินเชื่อธุรกิจใหม่ที่ธนาคารเกียรตินาคินนำบริการเพิ่มเติม โดยกล่าวว่า  ในปัจจุบันยอดสินเชื่อธุรกิจของธนาคารเกียรตินาคินอยู่ที่ 49,433 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556  ซึ่งคิดเป็น 26% ของสินเชื่อรวม  ซึ่งสินเชื่อธุรกิจที่ธนาคารเชี่ยวชาญมี  6 ด้าน ได้แก่ 1.สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2.สินเชื่อธุรกิจอพาร์ตเมนต์และโรงแรม 3.สินเชื่อธุรกิจขนส่ง 4.สินเชื่อธุรกิจฟลอร์แพลนสำเร็จผู้ทำธุรกิจเตนท์รถ 5.สินเชื่ออุตสาหกรรม ซึ่งเดิมใช้เป็นสินเชื่อด้านพรินติ้ง เปลี่ยนมาเป็นสินเชื่ออุตสาหกรรม แต่ยังเน้นในด้านพริ้นติงเหมือนเดิม รวมถึงด้านอาหาร การแพทย์และธุรกิจต่อเนื่องจากพริ้นติ้ง อย่างธุรกิจบรรจุภัณฑ์
 
ส่วนด้านที่6. คือ  สินเชื่อเพื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง ที่เพิ่งเปิดให้บริการใหม่เพื่อต่อยอดสินเชื่อธุรกิจเดิมที่ทำอย่างสินเชื่อธุรกิจเดิมด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยรูปแบบสินเชื่อใหม่นี้แบ่งย่อยได้ให้แก่ลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่  ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง 2. ผู้รับเหมาและ3.ผู้จำหน่ายเครื่องจักรและผู้ให้เช่าเครื่องจักร
 
“ สินเชื่อธุรกิจทั้ง 6 ด้านมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มากสุดในสัดส่วน 60% ส่วนสินเชื่อใหม่เพื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้างจะไปสนับสนุนสินเชื่อต่อเนื่องกับธุรกิจเดิม เพื่อไปซื้ออุปกรณ์เครื่องมือ หรือไปสนับสนุนการทำระบบพรีแฟบของธุรกิจก่อสร้าง เชื่อว่า จะขยายสินเชื่อทางด้านนี้ไปได้อีกมาก”
 
นายศราวุธ ยังกล่าวต่อว่า การดำเนินการในปีนี้ยังเน้นเติบโตกับลูกค้าเก่าที่แข็งแรง ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯยังเป็นสัดส่วนใหญ่ที่ 70% โดยการปล่อยสินเชื่อธุรกิจจะเน้นที่กลุ่มลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าโดยต่อยอดในกลุ่มธุรกิจที่ทำ ในส่วนอสังหาริมทรัพย์ปีนี้อาจจะชะลอตัวไปบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ธนาคารเกียรตินาคินยังคงให้การสนับสนุนลูกค้าเดิมที่ยังทำโครงการอยู่ต่อเนื่อง
 
ขณะเดียวกันยังเน้นไปส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่และจังหวัดติดต่อพรมแดนต่างประเทศที่มีศักยภาพเติบโตค่อนข้างสูงเนื่องจากกระแสการเปิดตลาดอาเซียนหรือเออีซีและมีการเปลี่ยนแปลงสภาพกลายเป็นเมือง ส่วนธุรกิจอพาร์ตเมนต์และขนส่งยังไปได้ดี  ขณะที่ฟลอร์แพลนอาจชะลอไปตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องผู้ประกอบการชะลอการซื้อรถ
 
สำหรับการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจรวม เดิมช่วงปลายปี 2556 ตั้งเป้าการเติบโตไว้สูงที่ 20% จากปีก่อนหน้าที่เติบโต 30%  แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและภาวะไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังไม่มีบทสรุปในปัจจุบันทำให้คาดว่า สินเชื่อธุรกิจรวมจะเติบโตได้ไม่เกิน 10%  เท่านั้น ในส่วนสินเชื่อใหม่เพื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้างในปีแรก 2557 นี้ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อไว้ที่ 700-800 ล้านบาท
 
นายศราวุธกล่าวด้วยว่า ส่วนปัญหาที่โครงการภายใต้พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทต้องชะลอออกไปนั้น เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้วเชื่อว่า โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศยังจำเป็นต้องทำอยู่ในอนาคต ส่วนในภาคเอกชนในด้านอสังหาริมทรัพย์ทางธนาคารจะไปสนับสนุนผู้ประกอบการเพิ่มเติมให้ครบทุกด้าน และโดยพื้นฐานแล้วลูกค้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอพาร์ตเมนท์จะมีตลาดเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงหรือเป็นนักศึกษาจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก สินเชื่อธุรกิจใหม่จึงเหมือนทำเพื่อหล่อเลี้ยงลูกค้าเก่า
 
ส่วนปัญหาคุณภาพหนี้หรือการผิดนัดชำระหนี้ยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและได้มีการจับตาอย่างใกล้ชิดแล้ว ซึ่ง ณ สิ้นปี 2556 ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL ของธนาคารเกียรตินาคินอยู่ที่ 3.8% ขณะที่ NPL ของสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่อยู่ที่ 5-6% อย่างไรก็ดีธนาคารได้ดูแลโดยเร่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยลด NPL ลง ส่วนแนวโน้มด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจะเป็นไปตามภาวะตลาดรวมและมีทิศทางปรับลดลงตามธปท.
 
ทางด้านนางสาวจิราภรณ์ ลินมณีโชติ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทรฯ ได้ให้ภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2557 นี้ว่า คาดว่าจะมียอดขายรวมลดลง 18% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่ผ่านมา ด้านซัพพลายใหม่คาดว่าจะปรับลดลง 18% จากปี 2556 ที่ผ่านมา 1.26  แสนยูนิต อยู่ที่ 8.5 หมื่นยูนิต โดยเป็นซัพพลายคอนโดมีเนียมลดลง 30-40%


ทั้งนี้ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากการสำรวจยอดขายของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ 7 ในตลาดหลักทรัพย์ คือ ค่ายเอพี แลนด์แอนด์เฮ้าส์ แอลพีเอ็น พฤกษา  คิวเฮ้าส์ ศุภาลัย และแสนสิริ พบว่า ยอดขายรวม 7 บริษัท ลดลง 60% โดยยอดขายคอนโดมีเนียมลดลงถึง 88% เนื่องจากมีโครงการเปิดใหม่น้อย ส่วนยอดขายโครงการแนวราบลดลงประมาณ 10%  
 
พร้อมกันนี้ยังกล่าวด้วยว่า ไม่คิดว่า จะเกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ผู้ประกอบการได้เรียนรู้และมีการปรับตัวไปมากแล้ว
 
 

 


LastUpdate 25/03/2557 16:11:15 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:38 am