เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
TMB ชี้ส่งออกอาหารไทยปีนี้ฟื้นได้ หากเร่งแก้ปัญหาอุปทาน


 

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองส่งออกอุตสาหกรรมอาหารยังสามารถพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2557 จากอานิสงส์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ต้องเร่งแก้ไขอุปสรรคด้านอุปทานให้สำเร็จเร็วที่สุด


อุตสาหกรรมส่งออกอาหารไทยนับเป็นอุตสาหกรรมส่งออกขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกสูง และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ถึงปีละ 5 แสนล้านบาท  โดยการส่งออกส่วนใหญ่ ยังเป็นการส่งไปยังตลาดส่งออกเก่าเป็นหลัก เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ เป็นต้น ทำให้มีสัดส่วนส่งออกไปยังตลาดพวกนี้สูงถึงร้อยละ 22, 18 และ 14 ตามลำดับ ดังนั้น ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ จึงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับแนวโน้มส่งออกอาหารไทย

จากข้อมูลการนำเข้าสินค้าอาหารของกลุ่มประเทศสำคัญในปี  2556  พบว่า การนำเข้าอาหารรวมของสหรัฐฯ และยุโรป มีอัตราขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 และ 3.6 ตามลำดับ สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสองตลาดนี้ ที่มีทิศทางดีขึ้นเรื่อยๆ แม้จะแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่การนำเข้าอาหารของญี่ปุ่นหดตัว 12.7% ในปี 2556 หลังค่าเงินเยนที่อ่อนลงอย่างรวดเร็วจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนเชิงปริมาณ อย่างไรก็ดี ทางการญี่ปุ่นก็ได้มีการอนุญาตให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยอีกครั้ง หลังมีการระงับไปเป็นเวลากว่า 10 ปี ทำให้แนวโน้มส่งออกอาหารจากไทยไปญี่ปุ่นดูดีขึ้นในปีนี้

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตได้ถึงร้อยละ 2.8 ในปี 2557 ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 1 ขับเคลื่อนโดยแรงขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และยุโรปเหนือ เป็นหลัก ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น ปีนี้อาจขยายตัวได้ถึง 1.7% โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังของรัฐบาล ซึ่งการนำเข้าสินค้าหมวดอาหารกับการขยายตัวของ GDP นั้น มีความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมาก ดังนั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น จึงเป็นแรงส่งสำคัญให้กับการขยายตัวของส่งออกอาหารของไทยในปีนี้

การส่งออกสินค้าไทยในหมวดอาหารไปยังตลาดเหล่านี้นั้น ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในหมวดอาหารทะเล และในหมวดเนื้อสัตว์ ทำให้สินค้ากลุ่มอาหารที่ยังมีทิศทางการส่งออกที่ดีในปีนี้ ได้แก่ ไก่แช่แข็งและแปรรูปที่จะได้รับแรงหนุนจากการที่ญี่ปุ่นได้มีการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าไทยอีกครั้ง อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง รวมทั้ง สินค้าอาหารอื่นๆ เช่น ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ที่ยังมีความต้องการในตลาดโลกสูง เพราะฉะนั้น ภาพรวมทางด้านอุปสงค์การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารยังมีแนวโน้มเติบโตที่ดี เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

 
 
 
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอาหารของไทยนั้น จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกครั้งนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเร่งแก้ปัญหาทางข้อจำกัดทางอุปทานของผู้ประกอบการไทยเอง เช่น เรื่องโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ที่แม้ในปัจจุบันจะเริ่มมีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้น แต่ก็ยังส่งผลให้ผลผลิตกุ้งทั้งประเทศลดลงต่อเนื่องในปีนี้ พร้อมกับปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารทะเลและแรงงานที่สูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนทำให้การส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปมีปัญหาตลอดปี 2556 และปัญหาเรื่องการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยยังถูกเพ่งเล็งจากคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯและยุโรปและอาจสร้างปัญหาต่อเนื่องได้ในปี 2557 นอกจากในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและอาหารทะเลแปรรูปแล้ว ยังมีเรื่องโรคไข้หวัดนก ที่แม้จะยังไม่มีการระบาดในประเทศไทยในปีนี้ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณอันตรายมากขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน และเรื่องภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อผักและผลไม้ และราคาเนื้อสัตว์ในประเทศ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่มารุมเร้าอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างไม่สิ้นสุด และเป็นปัญหาที่ส่งผลต่ออุปทานของไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น จึงควรได้รับการดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น แม้ความต้องการสินค้าส่งออกอาหารของไทย ในตลาดโลกปี 2557 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในตลาดส่งออกสำคัญ แต่ถ้าจะให้ผู้ประกอบการไทยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกครั้งนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วละก็ คงจะต้องเร่งแก้ปัญหาอุปทานในประเทศอย่างเร่งด่วน เนื่องจากยังไม่สามารถวางใจได้ว่าโรค EMS จะหมดไป การระบาดของไข้หวัดนกจะไม่กลับมา รวมทั้งจะไม่มีปัญหาการใช้แรงงานไม่ถูกกฏหมาย ซึ่งหากปราศจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นแล้ว ส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปีนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น เป็นแรงช่วยหนุนการส่งออกรวมให้ขยายตัวได้อีกแรงหนึ่งอย่างแน่นอน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 เม.ย. 2557 เวลา : 12:51:23
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 9:25 am