เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สภาพัฒฯ์ ระบุ เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ "จีดีพี" ติดลบ 0.6%


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีของไตรมาส 1/57 ติดลบ 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในไตรมาสแรกปรับตัวลดลงจากไตรมาส 4/56 ร้อยละ 2.1 

 
ในขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ 0.9% อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 2.0% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.67 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 8.8% ของ GDP
 
เศรษฐกิจที่ติดลบในไตรมาสแรกมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไม่ลดลงมากมี 2 ปัจจัย คือ การใช้จ่ายภาครัฐที่ยังคงมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประมาณของทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกเริ่มขยายตัว อย่างไรก็ดี ยังเป็นการฟื้นตัวที่ช้าและไม่เพียงพอที่จะชดเชยให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้
 
ปัจจัยภายในประเทศที่ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจติดลบดังกล่าว ได้แก่ 1. การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง 3.0% จากการที่ค่าใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนลดลง โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ลดลงมากจากฐานการขยายตัวที่สูงมากในไตรมาสแรกของปี 56 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังมีการส่งมอบรถยนต์ตามมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก รวมทั้งเป็นผลจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงและระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายเนื่องจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของฐานรายได้และเศรษฐกิจโดยรวม
 
2.การลงทุนรวมลดลง 9.8% โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 7.3% เป็นการลดลงทั้งการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดการก่อสร้าง สอดคล้องกับการลดลงของมูลค่าการนาเข้าสินค้าทุนและการลดลงของพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในช่วงก่อนหน้า เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐซึ่งลดลง 19.3% ตามการลดลงของการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ
 
3. การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น 2.9% เป็นผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณในหมวดค่าตอบแทนบุคลากรที่เพิ่มขึ้นทั้งเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยง ส่วนค่าใช้จ่ายหมวดสาธารณูปโภคลดลงเนื่องจากการหยุดทำการชั่วคราวของส่วนราชการในกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง โดยรวมแล้วอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ในไตรมาสแรกอยู่ที่ 19.1% ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 24%
 
ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 55,573 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในอัตรา 0.9% ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าส่งออกลดลง 1.6% และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลง 0.8% สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ยางพารา สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์โลหะ และผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียม ส่วนสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรและอุปกรณ์
 
มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นขยายตัวตามภาวการณ์ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในตลาดหลัก แต่มูลค่าการส่งออกไปยังจีนและอาเซียนลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เมื่อรวมกับการลดลงของจำนวนท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและมาตรการเพิ่มคุณภาพนักท่องเที่ยวของจีน ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการลดลง 0.4%
 
ส่วนการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 49,054 ล้านดอลลาร์ สรอ.ลดลง 14.8% โดยที่ปริมาณการนำเข้าลดลง 13.8% เนื่องจากอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศลดลงและปริมาณการส่งออกเพิ่งเริ่มฟื้นตัวเพียงช้าๆ โดยรวมปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการหดตัว 8.5% การลดลงของมูลค่าการนำเข้าที่เร็วกว่ามูลค่าการส่งออกส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและการส่งออกสุทธิเริ่มปรับตัวในทิศทางที่เป็นบวก แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการลดลงของอุปสงค์ในประเทศ
 
ในด้านการผลิตสินค้าและบริการ มีเพียงสาขาเกษตรและการเงินที่ยังคงขยายตัว ส่วนสาขาอื่นลดลงกล่าวคือ ภาคเกษตรกรรมโดยรวมขยายตัว 0.8% โดยเป็นการขยายตัวของหมวดพืชผลและหมวดปศุสัตว์ผลผลิตสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และปาล์มน้ามัน ในขณะที่ราคาพืชผลหลักยังคงลดลงต่อเนื่อง
 
ภาคการเงินยังคงขยายตัวดีในอัตรา 6.6% แม้จะต่ำกว่า 10.1% ในปี 56 สอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่ส่งผลให้ธุรกรรมทางการเงินอื่นๆชะลอตัวตามไปด้วย สำหรับการผลิตที่ลดลง ประกอบด้วย สาขาอุตสาหกรรม ลดลง 2.7% ตามการลดลงของการบริโภค การลงทุน และการส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิตจึงยังคงอยู่ในระดับต่ำ สาขาก่อสร้าง ลดลง 12.4% โดยลดลงทั้งการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชน สาขาโรงแรมและภัตตาคาร หดตัว 3.1% ตามการลดลงของจานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ สาขาการค้าส่งค้าปลีก หดตัว 0.5% สอดคล้องกับการลดลงของการบริโภคปริมาณการค้าระหว่างประเทศ การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และการท่องเที่ยว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 พ.ค. 2557 เวลา : 10:41:50
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:01 am