เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ส่งออกรถยนต์ปี 57 อาจขยายตัวได้ถึง 6-11%


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกรถยนต์รวมของไทยปี 2557 นี้มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 6 ถึง 11 คิดเป็นจำนวนรถยนต์ราว 1.16 ถึง 1.22 ล้านคัน จากความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทยที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องของนักลงทุน รวมไปถึงปัจจัยบวกต่างๆ เช่น การปรับสายการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทิศทางการอ่อนค่าของค่าเงินบาท และการสามารถเปิดตลาดใหม่บางแห่ง เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ ได้เพิ่มขึ้น

 
โดยคาดว่า การส่งออกรถยนต์นั่งจะมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่ารถยนต์เพื่อการพาณิชย์ จากที่สามารถเปิดตลาดใหม่ได้ ส่วนตลาดส่งออกโดยรวมนั้น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์และตะวันออกกลาง ยังเป็นตลาดหลักที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่ตลาดใหม่บางแห่ง เช่น นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ กลุ่มประเทศ CLMV และเปรู เป็นต้น ก็น่าจะเป็นแรงผลักดันการส่งออกรถยนต์ไทยในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม อาจต้องจับตาดูการส่งออกไปยังอินโดนีเซียและมาเลเซียที่หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มรถยนต์นั่ง หลังมีการลงทุนผลิตรถยนต์นั่งใน 2 ประเทศนี้เพิ่มขึ้น  
 
ตลาดส่งออก ปี 57...คาดทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง 
altหลังจากตลาดส่งออกในปีที่แล้วทำสถิติตัวเลขส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่มากกว่า 1.09 ล้านคันแล้ว ปี 2557 นี้ การส่งออกของไทยก็ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่อ ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 ที่ผ่านมา ไทยสามารถทำยอดการส่งออกได้จำนวน 357,004 ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 1.5  และปัจจัยบวกหลักที่จะเข้ามามีส่วนช่วยกระตุ้นยอดต่อจากนี้ไปนั้น นอกเหนือจากการที่ค่ายรถสามารถปรับสายการผลิตมาเป็นการผลิตเพื่อส่งออกได้มากขึ้น หลังส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกจบสิ้นแล้วนั้น ได้แก่ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงตามทิศทางการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ภายหลังจากการควบคุมอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ การเดินหน้าพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนที่ค้างอยู่ และการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ก็น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน ขณะที่กลุ่มนักลงทุนทั้งกลุ่มที่มีการลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้วและที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ นับว่ายังมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทยอยู่มาก ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรง ก็คาดว่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นตลาดการส่งออกรถยนต์ในปีนี้อีกทางหนึ่ง 
 
จากปัจจัยบวกต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2557 การส่งออกรถยนต์ของไทยน่าจะยังมีโอกาสทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ใหม่ที่ 1.16 ถึง 1.22 ล้านคัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 6 ถึง 11 โดยเป็นการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นจากในปี 2556 ที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 7 และส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยสามารถพลิกกลับมามีจำนวนมากกว่าตลาดรถยนต์ในประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง และคาดว่าตั้งแต่ปี 2557 นี้ ตลาดส่งออกจะมีบทบาทที่สำคัญต่อการผลิตรถยนต์ในประเทศของไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
อย่างไรก็ตาม หากแยกดูตามตลาดส่งออกหลักของไทยแต่ละตลาด รวมถึงประเภทของรถยนต์ที่ส่งออกไปยังแต่ละตลาดแล้ว จะเห็นได้ว่าโอกาสในการส่งออกนั้นมีแตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
 
o ตลาดส่งออกรถยนต์นั่ง 
ไทยส่งออกรถยนต์นั่ง (HS code: 8703) ไปยังตลาดต่างประเทศเป็นมูลค่าประมาณ 6,523 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2556 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นประมาณร้อยละ 15 อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการกลับมาผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้นของค่ายรถแล้ว การผลักดันการส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหลักหนึ่งที่ส่งเสริมยอดการส่งออกรถยนต์นั่งของไทย ทั้งนี้เมื่อดูรายประเทศที่ส่งออกแล้วสามารถแบ่งกลุ่มตลาดส่งออกได้ดังนี้
 
   •ตลาดหลักเดิมที่ยังคงมีโอกาสขยายตัว นำโดยออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุดกว่า 1,494 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 23 ของการส่งออกรถยนต์นั่งทั้งหมดของไทย ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ ซึ่งไทยส่งออกไปมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 3 ด้วยมูลค่า 672 ล้านดอลลาร์ฯ โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา การส่งออกรถยนต์นั่งไปออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ขยายตัวกว่าร้อยละ 60 และ 15 ตามลำดับ
 
        โดยออสเตรเลียนับว่าเป็นตลาดส่งออกที่ดูมีอนาคตในระยะยาวตลาดหนึ่งของไทย ในทุกประเภทรถยนต์นั่ง โดยเฉพาะหลังจากค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณการถอนการลงทุนในออสเตรเลีย และมีแผนจะปิดโรงงานผลิตในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้ออสเตรเลียต้องนำเข้ารถยนต์เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันออสเตรเลียนำเข้ารถยนต์นั่งจากไทยมากเป็นอันดับที่ 4 (รองจากญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้) และเมื่อเทียบกันแล้วมูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่งจากไทยก็มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 จนปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 10 ขณะที่รถยนต์นั่งจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีสัดส่วนการนำเข้าที่ลดลง ทำนองเดียวกับเยอรมนีที่อยู่ในระดับทรงตัว อย่างไรก็ตาม หลังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้มีการตกลงเปิดเสรีทางการค้ากับออสเตรเลียในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาอาจส่งผลให้ราคารถยนต์นำเข้าจาก 2 แหล่งนี้ปรับลดลง และกลับมาเป็นคู่แข่งขันที่น่ากลัวมากขึ้นในการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยไปออสเตรเลียได้ในอนาคต   
 
          ฟิลิปปินส์ เป็นอีกตลาดที่ไทยมีโอกาสส่งออกได้มากขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ค่ายรถยนต์บางรายได้มีการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ออกมาตั้งที่ไทยแทนเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีแนวโน้มจะต้องนำเข้ารถยนต์มากขึ้น ขณะที่การผลิตในประเทศลดลง โดยรถยนต์นั่งจากไทยที่มีโอกาสในตลาดฟิลิปปินส์ คือ กลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (ความจุกระบอกสูบตั้งแต่ 1,500 ซีซี ลงไป) รถยนต์เอสยูวี และรถยนต์อีโคคาร์ ซึ่งบางรุ่นที่ส่งออกไปจากไทยได้รับความนิยมในตลาดค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันฟิลิปปินส์นำเข้ารถยนต์นั่งจากไทยในสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 35 ตามด้วยอินโดนีเซีย และ ญี่ปุ่น ที่ร้อยละ 26 และ 17 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย เป็นประเทศหนึ่งที่น่าจับตาสำหรับการเป็นคู่แข่งในตลาดรถยนต์นั่งฟิลิปปินส์นี้
 
   • ตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวอยู่ในระดับสูง โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา มีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งจากไทยไปสูงมาก ได้แก่ ประเทศแอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ เมียนมาร์ และโปแลนด์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ติดอันดับกลุ่ม 15 ประเทศแรก ที่ไทยส่งออกรถยนต์นั่งไปมีมูลค่าสูง และเพิ่งจะมีการขยายตัวของการส่งออกแบบก้าวกระโดดในปี 2556 ที่ผ่านมา 
alt
          ทั้งนี้ เนื่องมาจากไทยเพิ่งเริ่มมีการส่งออกรถยนต์นั่งบางรุ่นไปบางประเทศอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์อีโคคาร์ที่เพิ่งเริ่มมีการผลิตและทำตลาดได้ไม่นาน ประกอบกับราคาที่ประหยัดทำให้สามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย ประกอบกับการย้ายฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นมายังไทย เช่น กรณีการย้ายฐานการผลิตจาก ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ มายังไทย รวมถึงแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตออกจากออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างก็เป็นฐานการผลิตรถยนต์และมีตลาดส่งออกเดิมของตนอยู่แล้ว ทำให้ตลาดส่งออกของประเทศเหล่านั้นถูกถ่ายโอนมายังไทยด้วยเช่นกัน เช่น กรณีนิวซีแลนด์ เป็นต้น นอกจากนี้ บางตลาด เช่น เมียนมาร์ ยังเป็นตลาดที่มีแนวโน้มในการขยายตัวสูงในอนาคตแม้เพิ่งเปิดประเทศไม่นาน และยังมีชายแดนติดต่อกับไทย ทำให้การขนส่งรถยนต์ข้ามแดนสามารถทำได้ง่าย โดยเฉพาะถ้ามีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
 
   • ตลาดหลักเดิมที่มีโอกาสหดตัวลงในอนาคต ตลาดรถยนต์นั่งหลักเดิมที่เริ่มมองเห็นทิศทางการหดตัวลงในขณะนี้มี 2 ตลาด คือ อินโดนีเซีย ซึ่งนำเข้ารถยนต์นั่งจากไทยเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่าสูงถึง 1,038 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของการส่งออกรถยนต์นั่งทั้งหมดของไทย และมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยมูลค่าการส่งออก 279 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งในปี 2556 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งจากไทยไปยัง 2 ประเทศนี้หดตัวลงถึงร้อยละ 32 และ 37 ตามลำดับ
 
alt           สาเหตุหลักคาดว่ามาจากการที่การผลิตรถยนต์นั่งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่ายอดขายในประเทศ โดยที่เห็นได้ชัดเจน คือ อินโดนีเซีย ทั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศทั้งสอง มีการเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศและการส่งออกในกลุ่มรถยนต์บางประเภทมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนหลักนั้นเพิ่มสูงขึ้นมากใน 2 ประเทศนี้ ในปี 2555 เพื่อการผลิตรองรับตลาดในปี 2556 และก็ยังมีการลงทุนเพิ่มต่อเนื่องในระดับสูง โดยในปี 2555 มีการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จากญี่ปุ่นไปยังอินโดนีเซีย และมาเลเซีย สูงถึง 96,800 และ 6,800 ล้านเยน และในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2556 อีก  62,100 และ 7,300 ล้านเยน ดังแสดงในตารางตามลำดับ (สำหรับไทยมีการลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นในปี 2555 อยู่ที่ 73,900 ล้านเยน และในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2556 อีก 97,500 ล้านเยน) 
 
โดยผลจากการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศ ทำให้มูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่งในช่วงปี 2556 ของทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียหดตัวลงประมาณร้อยละ 8 และ 6 ตามลำดับ ทำให้การนำเข้ารถยนต์นั่งจากไทยลดลง นอกจากนี้ การที่ทั้ง 2 ประเทศนี้ เพิ่มการนำเข้าจากแหล่งนำเข้าอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยต่อมูลค่าตลาดรวม โดยเฉพาะอินโดนีเซียนั้น ลดลงอย่างต่อเนื่องจนลงมาเหลือต่ำกว่าร้อยละ 50 และมีโอกาสที่จะลดลงต่อเนื่องได้อีก โดยประเภทรถยนต์นั่งที่ไทยกำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กความจุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1,500 ซีซี เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ในกลุ่มนี้ในอินโดนีเซียและมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งแบบแฮทช์แบ็ก 5 ประตู รถยนต์อีโคคาร์ และรถยนต์อเนกประสงค์ราคาประหยัด
 
o ตลาดส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 
     ไทยส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (HS code: 8704) ไปยังตลาดต่างประเทศเป็นมูลค่าประมาณ 10,428 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2556 หดตัวลงจากปีก่อนหน้านั้นประมาณร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศจากผลของโครงการรถยนต์คันแรกทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกลดลงไปในช่วงที่ผ่านมา แม้จะปรับดีขึ้นแล้วในปี 2556 แต่ก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ โดยปัญหาดังกล่าวในปีนี้คาดว่าจะหมดไป และกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกน่าจะปรับเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดในประเทศมีทิศทางที่ชะลอลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดโดยรวมจะหดตัวลง แต่เมื่อดูรายประเทศที่ส่งออกแล้ว ก็จะเห็นว่าสามารถแบ่งกลุ่มตลาดส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ได้ดังนี้
 
   • ตลาดหลักเดิมที่ยังคงมีโอกาสขยายตัว นำโดยออสเตรเลียเช่นเดียวกับตลาดส่งออกรถยนต์นั่ง โดยเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุดกว่า 2,580 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 25 ของการส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ทั้งหมดของไทย ตามมาด้วยซาอุดิอาระเบีย ซึ่งไทยส่งออกไปมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 2 ด้วยมูลค่า 1,180 ล้านดอลลาร์ฯ โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา การส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ไปออสเตรเลียและซาอุดิอาระเบียขยายตัวกว่าร้อยละ 3 และ 4 ตามลำดับ
โดยในส่วนของออสเตรเลีย นับว่าเป็นตลาดส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ที่สำคัญและมีอนาคตมาก โดยออสเตรเลียนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 46 ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่ออสเตรเลียนำเข้า เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสเปน เป็นต้นนั้น มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 20 ร้อยละ 11 และร้อยละ 8 ตามลำดับ ซึ่งการที่ค่ายรถยนต์หลายค่ายเริ่มส่งสัญญาณการถอนการลงทุนในออสเตรเลีย ย่อมทำให้ออสเตรเลียต้องนำเข้ารถยนต์เพิ่มมากขึ้น และเป็นผลดีต่อการส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ของไทยที่เป็นผู้นำตลาดเดิมอยู่แล้ว   
 
          ซาอุดิอาระเบีย เป็นอีกตลาดที่ไทยมีโอกาสส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ได้มากขึ้น โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 41 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2555 และ 2554 ที่อยู่ที่ร้อยละ 37 และ 24 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่ซาอุดิอาระเบียมีการนำเข้าเป็นอันดับ 2 คือ ญี่ปุ่น กลับมีสัดส่วนการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 32 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 26 และ 24 ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ บ่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการพึ่งพิงรถเพื่อการพาณิชย์นำเข้าจากไทยมากขึ้น
 
    • ตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวอยู่ในระดับสูง โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา มีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์จากไทยไปสูง และเพิ่มขึ้นอย่างมากสวนทางกับตลาดที่หดตัวลง ได้แก่ ประเทศนิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว เปรู อิรัก อัลจีเรีย และเวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้ติดอันดับกลุ่ม 20 ประเทศแรก ที่ไทยส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ไปมีมูลค่าสูง และเพิ่งมีการขยายตัวของการส่งออกแบบก้าวกระโดดในช่วง 1 ถึง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงเท่านั้น ในตลาดใหม่เหล่านี้ยังพบว่า ส่วนใหญ่แล้วไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งในประเทศเหล่านั้น และสัดส่วนการส่งออกของไทยต่อมูลค่าตลาดรถเพื่อการพาณิชย์รวมในแต่ละประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและมีนัยสำคัญ ขณะที่ประเทศส่งออกอื่นมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ลดลง นั่นคือรถเพื่อการพาณิชย์ของไทยสามารถเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นได้ในตลาดใหม่เหล่านี้
 
alt            ทั้งนี้ จากสาเหตุหลัก ทั้งการที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถปิกอัพ ที่สำคัญระดับโลกอยู่แล้ว และการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AEC ยังทำให้ความต้องการรถเพื่อการพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ส่งผลให้มีการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตรถเพื่อการพาณิชย์บางรุ่นของค่ายรถมายังไทย รวมถึงได้มีการวางสถานะให้รถเพื่อการพาณิชย์บางรุ่นของไทยเป็นรถเพื่อการทำตลาดระดับโลกด้วย นอกจากนี้ การลดกำลังการผลิตในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เพื่อเตรียมถอนการลงทุนในประเทศ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดส่งออกเดิมของออสเตรเลียถูกถ่ายโอนมายังไทยด้วยเช่นกัน เช่น กรณีนิวซีแลนด์ เป็นต้น ขณะที่บางตลาด เช่น สปป.ลาว และเวียดนาม ก็เป็นตลาดที่มีแนวโน้มในการขยายตัวสูงในอนาคต และยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่จะมีการเปิดเสรีกับไทยมากขึ้นในปี 2558 รวมถึงการส่งออกรถยนต์ข้ามแดนยังสามารถทำได้ง่ายอีกด้วย ประกอบกับการเปิดเสรีทางการค้ากับไทยในบางประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น เปรู ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศนั้นๆ ด้วย 
 
alt    • ตลาดหลักเดิมที่หดตัวลงในปี 2556 โดยในช่วงปีที่ผ่านมา การส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ไปยังหลายประเทศที่เป็นตลาดหลักเดิมของไทย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน ชิลี มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้มีการหดตัวลงทุกตลาด อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกของปี 2556 ที่แม้จะหดตัวลงแล้ว แต่การส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ไปยังตลาดหลักเหล่านี้แทบทุกตลาดก็ยังเป็นมูลค่าที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงหลายปีติดต่อกันก่อนหน้านั้นถึงกว่า 1 เท่าตัว หรือมากกว่า ยกเว้นเพียงอินโดนีเซียที่มูลค่าการส่งออกไม่แตกต่างจากเดิมมากเท่าประเทศอื่นๆ ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ของไทยต่อมูลค่าตลาดรวมในประเทศผู้นำเข้าแต่ละประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าตลาดเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต
 
 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่ตลาดหลักเดิมเหล่านี้ในปี 2556 หดตัวลง สวนทางกับแนวโน้มการลงทุนของค่ายรถที่ต่างมุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก รวมถึงให้รถที่ผลิตจากไทยหลายรุ่นเป็นโมเดลเพื่อทำตลาดระดับโลก อาจเนื่องมาจากในปี 2555 ค่ายรถยนต์ต่างพยายามเร่งผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกมาสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ หลังเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในไทยช่วงปลายปี 2554 ส่งผลให้การส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ในปี 2555 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในลักษณะก้าวกระโดด และเมื่อเข้าสู่ปี 2556 ซึ่งการใช้กำลังการผลิตเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดหลักเดิมดังกล่าวปรับลดลงจากปี 2555 แต่ก็ยังเป็นมูลค่าที่สูงกว่าปีก่อนๆ หน้านั้นอยู่ดี
 
กล่าวโดยสรุปแล้ว  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2557 นี้ โดยรวมแล้วมีโอกาสขยายตัวได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มของตลาดรถยนต์นั่ง โดยนอกเหนือจากการผลิตรถยนต์ประเภทนี้ที่เพิ่มขึ้นมากในไทยแล้ว ยังเนื่องมาจากไทยสามารถเปิดตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กในบางกลุ่มประเทศ เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ ได้มากขึ้น ซึ่งก็นับว่าเป็นผลได้ที่สำคัญจากการวางมาตรฐานรถยนต์ที่ผลิตในประเทศสูงขึ้นจากโครงการรถยนต์อีโคคาร์เฟส 1 ซึ่งโครงการรถยนต์อีโคคาร์เฟส 2 ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานตามแผนนั้นก็คาดว่าจะกลายมาเป็นอีกความหวังหนึ่งสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งได้เช่นเดียวกัน ขณะที่การเดินหน้าพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนที่ยังค้างอยู่ และการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็คงจะส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับในระยะถัดไปนั้น ประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คงจะครอบคลุมไปถึงแนวทางผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของทางการ ซึ่งอาจมีส่วนสนับสนุนห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ 
 
อย่างไรก็ตาม ไทยเองก็มีประเทศคู่แข่งในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งกำลังพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในประเทศของตนมากขึ้น โดยปัจจุบันได้หันมาสนับสนุนการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กประหยัดพลังงานในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับโครงการรถยนต์อีโคคาร์ของไทย ซึ่งแม้ไทยจะวางใจได้ในระดับหนึ่งว่าการผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซียมุ่งเน้นสำหรับการรองรับตลาดในประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นหลัก ทว่า ด้วยจุดอ่อนสำคัญด้านขนาดตลาดในประเทศของไทยที่เล็กกว่าอินโดนีเซียอยู่มาก ทำให้มีความจำเป็นต้องพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักด้วยนั้น การพัฒนาโครงการใหม่ๆ ที่สามารถทำจุดขายในตลาดต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและศักยภาพของแรงงานในการผลิตให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไทยควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนของภูมิภาคไว้ให้ได้อย่างยั่งยืน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 มิ.ย. 2557 เวลา : 11:14:17
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:10 am