เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
พาณิชย์ยอมหั่นเป้าส่งออกปี 57 เหลือ 3.5%


แม้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้น หลังการเข้าบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา แต่การส่งออกยังไม่มีทิศทางที่สดใส หลังชะลอตัวลง 3 เดือนติดต่อกัน โดยในเดือนพฤษภาคมกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การส่งออกอยู่ที่ 19,401.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 20,210.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 9.32% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 808.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


 
 
 
การส่งออกของไทยที่ยังคงชะลอตัว มาจากการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของประเทศคู่ค้า รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ ได้แก่ ยางพารา น้ำตาล อาหารทะเล มันสำปะหลัง ส่วนการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.57) การส่งออก ลดลง 1.22% มาที่ 92,862.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าหดตัว 14% มาที่ 94,418.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลทั้งสิ้น 1,556.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนผลกระทบจากกรณีที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) โดยปรับลดระดับให้ไทยไปอยู่ในระดับ 3 (Tier 3) และสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศระงับความร่วมมือกับประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่าจะ ไม่ส่งผลกระทบต่อการค้า เนื่องจากภาคเอกชนยังยืนยันว่า การทำธุรกิจยังเป็นปกติ

แต่ผลจากการส่งออกที่ยังชะลอตัว กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 57 จะสามารถขยายตัวได้ 3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 5% 
 
 
 
ด้านมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การฟื้นตัวของการส่งออกไทยน่าจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ที่น่าจะขยายตัวในทิศทางที่สอดรับกันมากขึ้น (ทั้งในกลุ่ม G-3 จีน และอาเซียน) รวมถึงมีปัจจัยบวกจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดือนท้ายๆ ของปี 2556

โดยสินค้ารายการสำคัญที่น่าจะช่วยหนุนภาพรวมการฟื้นตัวของการส่งออก ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์/ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งน่าจะมีสัญญาณบวกทั้งจากคู่ค้าในตลาดหลัก และคู่ค้าในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ สินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล และน้ำมันสำเร็จรูป ก็น่าจะสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดเพื่อนบ้านอาเซียนได้อย่างต่อเนื่อง
 
 
 
 
 
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 อาจขยายตัวได้ประมาณ 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่หดตัวลง 1.2% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 

ส่วนภาพรวมการส่งออกของปี 2557 เชื่อว่ายังอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทาย สัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2557 ลงมาที่ 2-4% โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ 3% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 5% 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 มิ.ย. 2557 เวลา : 09:25:09
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:29 am