เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ปัจจุบันถ้าเรายังคงซื้อของที่ไม่จำเป็นอีก ในอนาคตเราได้ขายของที่จำเป็นแน่นอน


 

ผมได้อ่านบทความเตือนสติผู้คนที่ใช้หัวใจนำทางในการลงทุนที่เขียนโดยคุณสวลี ตันกุลรัตน์ แล้วชอบมากๆ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นก็เพราะเมื่อผม ทีมงาน และหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นภาคีสมาชิกโครงการเปลี่ยนประเทศไทยให้รุ่งเรืองด้วยความรู้ทางการเงิน ได้ออกไปเดินสาย พบปะพูดคุย ให้คำปรึกษา หรือแม้แต่รับเรื่องร้องเรียนกับผู้คนในทุกที่เท่าที่เราจะทำได้นั้น ท่านผู้อ่านทราบไหมว่าเราได้พบความจริงว่า ท่านที่ประสบกับปัญหาทางการเงินโดยเฉพาะด้านหนี้สินนั้น ตัวท่านเหล่านั้นท่านก็ทราบว่าปัญหามันเกิดจากสิ่งที่เราเรียกว่า พฤติกรรม การผลัดวันประกันพรุ่ง ที่มักจะเริ่มต้นความคิดในสมองของเราว่า "เรื่องนี้นะที่คิดจะลงมือทำนั้น เอาไว้ก่อน...เดี๋ยวค่อยทำ...มันคงจะยังไม่เกิดเรื่อง...มันไม่มีอะไรต้องรีบร้อน....มันไม่เป็นไรหรอก....จนบางท่านถึงขนาดว่า....เอาน่า..โลกมันยังไม่แตกในวันนี้หรอกเอาไว้ทำวันพรุ่งนี้ก็ได้ จะรีบไปทำไม" คำถามที่รอคำตอบจากเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายต่อคำว่า ผลัดวันประกันพรุ่ง อย่างที่ท่านผู้เขียนบทความ (ที่ผมขอยกย่องท่านนี้) ได้ถามว่า

 

เรารู้ไหมว่า การประหยัดอดออมเป็นสิ่งที่เราควรจะทำ

เรารู้ไหมว่า วิธีการออมที่ดีที่สุด คือ แบ่งเงินไปออมก่อน แล้วเหลือเท่าไรก็ใช้เท่านั้น (รายได้ เงินที่ออม = รายจ่าย สูตรนี้ทุกภาคส่วนต่างกำลังเร่งรณรงค์กันในเวลานี้)

เรารู้ไหมว่า การก่อหนี้เกินตัวเป็นสิ่งไม่ดี และทำให้เราลำบากในภายหลัง

เรารู้ไหมว่า เราต้องออมและลงทุนเพื่อเก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณ

เชื่อเถอะว่าเราทุกคนรู้เรื่องพวกนี้ดีและตั้งใจจะทำให้ได้ แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ลงมือทำและบอกกับตัวเองว่า "เอาไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยทำ"

อะไรคือคำตอบที่สมเหตุสมผลของเราๆ ท่านๆ ที่ออกมาจากสติ ที่ไม่ใช่อารมณ์ครับ


เนื้อหาในบทความต่อมาระบุว่า ท่านผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (...) ได้กล่าวไว้ในการบรรยายเรื่อง "พฤติกรรมผู้ลงทุน : ใครได้ ใครเสีย แล้วผู้กำกับทำอะไร" ความตอนหนึ่งว่า "เรารู้ว่า เราจะแก่ เราจะเกษียณ เรารู้ปัญหานี้แต่เราไม่ทำอะไร เพราะคำว่า ผลัดวันประกันพรุ่ง มันอยู่กับเราตลอด ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ แต่เราไม่ทำต่างหาก" และอีกคำถามหนึ่งที่โดนใจผมมากๆ จากท่านผู้ช่วยเลขาธิการ ก... คือ

"เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเงินที่ได้มาเป็นพิเศษ เช่น โบนัส เราถึงได้ใช้เงินก้อนนี้แบบไม่มีเหตุผล เรามักใช้เงินก้อนนี้ซื้ออะไรที่เราอยากได้ เราไม่ได้ใช้เงินก้อนนี้เหมือนกับเงินเดือน ทั้งๆ ที่เป็นเงินเท่ากันเพราะในสมองเราคิดว่า มันเป็นคนละบัญชีกัน ซึ่งผู้ประกอบการก็รู้พฤติกรรมนี้ดี เพราะฉะนั้นในช่วงเวลาแบบนี้จึงมีอะไรออกมาล่อใจเรา" ผมคงขอจบบทความครั้งนี้ด้วยข้อความที่ผมมักจะขอนำไปบรรยายต่อจากเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกที่กล่าวเตือนเอาไว้ว่า "ปัจจุบันถ้าเรายังคงซื้อของที่ไม่จำเป็นอีก ในอนาคตเราได้ขายของที่จำเป็นแน่นอน" กระเป๋าที่มากกว่าเจ็ดใบ รองเท้ามากกว่าเจ็ดคู่ เงินที่เอาไปใช้กับคาราโอเกะในทุกวันสุขแห่งชาติโดยอ้างกับตัวเองว่า ทำงานหนักมาจึงเครียดและมาลดความเครียดด้วยการกินเหล้ากับคาราโอเกะ....เงินที่หายไปเหล่านั้นมันควรจะมาช่วยตัวเราๆ ท่านๆ ในยามจำเป็นใช่หรือไม่ ถ้าเราไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง

สุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ค. 2557 เวลา : 12:33:47
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:25 am