อสังหาริมทรัพย์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผนึกกำลัง พลัส พร็อพเพอร์ตี้ และพีซีเอส เตรียมจัดงาน Facility Management Thailand 2014


รองศาสตราจารย์ ดร. เสริชย์  โชติพานิช รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมด้วยนายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และนายธนา ถิรมนัส กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอพเพอร์ตี้ แคร์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แถลงข่าวเตรียมจัดงานสัมมนาครั้งใหญ่ของประเทศ “Facility Management Thailand 2014” ระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศมาร่วมให้ข้อมูลและประสบการณ์ทำงาน โดยจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 11-12 กันยายน 2557 นี้  

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. เสริชย์  โชติพานิช รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Dr. Sarich Chotipanich, Associate Professor of Facility Management, Faculty of Architecture Chulalongkorn University) กล่าวว่า Facilities Management (FM) และ Property Management เป็นงานด้านการจัดการอาคารและอสังหาริมทรัพย์ที่มีบทบาทและความสำคัญเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยตลอด 15 ปีที่ผ่านมาการปฏิบัติงานด้าน FM ในประเทศไทยมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่ได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการและปฏิบัติการด้าน FM มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545  และในปี พ.ศ. 2557 นี้ ศูนย์ศึกษาการบริหารทรัพยากรกายภาพ (CFMS) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  จะได้ร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างบริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และ บริษัท พรอพเพอร์ตี้ แคร์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด  จัดประชุมสัมมนาใหญ่ของประเทศในหัวข้อ Facility Management Thailand 2014 : Managing facilities towards innovative dimension for business value creation and green environment ซึ่งถือเป็นการสัมมนาใหญ่ครั้งที่ 3 และได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งไทยและต่างประเทศ ที่เป็นนักวิชาการและผู้ชำนาญด้าน Facility / Property Management ที่มีชื่อเสียงและมีผลงานที่เป็นที่สนใจมาร่วมให้ข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ ที่วิทยาแต่ละท่านนำมาเปิดเผยในงานนี้เป็นครั้งแรก โดยจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 11-12 กันยายน 2557 นี้ ที่โรงแรมสยามเคมเปนสกี้  กรุงเทพฯ

“จากการวิเคราะห์และประมาณการเบื้องต้นของศูนย์ศึกษาการบริหารทรัพยากรกายภาพ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พบว่าอุปสงค์หรือความต้องการของตลาดด้าน FM ในเขตกรุงเทพฯ ใน 4 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า และโรงพยาบาล มีขนาดเศรษฐกิจถึงประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ไม่รวมค่าสาธารณูปโภค ค่าการตลาด เป็นภาคธุรกิจการจัดการและบริการที่มีผู้เกี่ยวข้องในการทำงานถึงกว่า 5 หมื่นคน และยังมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดเออีซีที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนและเกิดการเช่าอาคารสำนักงาน ตลอดจนถึงการพักอาศัยการซื้อขายสินค้า และการใช้บริการทางการแพทย์ มากขึ้นกว่าในปัจจุบันอย่างมาก” รองศาสตราจารย์ ดร. เสริชย์  กล่าว

 

 

นายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารทรัพยากรอาคาร บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด  (Mr. Chan Sirirat, Assistant Managing Director, Plus Property Company Limited) ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจบริหารทรัพยากรอาคารมีโอกาสเติบโตสูง และหากเปรียบเทียบค่าเช่าอาคารสำนักงาน พบว่ากรุงเทพฯ มีอัตราค่าเช่าเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้การตัดสินใจเลือกสถานที่ลงทุนหรือการขยายธุรกิจของชาวต่างชาติมักจะเลือกประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ และอีกหนึ่งความท้าทายและถือเป็นโอกาสทางธุรกิจคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ที่เป็นเครื่องมือในการระดมเงินทุนรูปแบบหนึ่งของผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากประสบการณ์ของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ที่ได้บริหารอาคารสิริภิญโญซึ่งจัดตั้งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แสนสิริ  ไพร์มออฟฟิศ (SIRIP) เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2557 ซึ่งในช่วงต้นปีได้มีการปรับปรุงอาคารและนำระบบต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการทำงานเพื่อให้เกิดการจัดการทางด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีการปรับอัตราค่าเช่าของสิริภิญโญเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 580 บาท/ตร.เมตร จากเมื่อ 5 ปีก่อนอยู่ที่ 350-450 บาท/ตร.เมตร สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ลงทุนในกองทุนในรูปแบบของค่าเช่าที่สามารถปรับเพิ่มขึ้น โดยอาคารสิริภิญโญมีอัตราค่าเช่าสูงที่สุดในย่าน ถ.ศรีอยุธยา 

อนึ่ง ฝ่ายวิจัยและพัฒนาของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้ทำการสำรวจตลาดอาคารในกรุงเทพฯ พบว่ามีจำนวนมากกว่า 3,000 อาคาร (อาคารสูง 7 ชั้น และสูงเกิน 30 ชั้น) แบ่งเป็นอาคารใหม่อายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งมีไม่ถึง 1,000 อาคาร (33.33%) และที่น่าเป็นห่วงคืออาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีอายุราว 20 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นอาคารที่มีความเสี่ยงในด้านไฟฟ้าลัดวงจร เหตุการณ์ไฟไหม้ เป็นต้น จำเป็นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาจัดระบบวิศวกรรมอาคารให้สามารถใช้งานได้เหมาะสม มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าของค่าเช่าให้กับเจ้าของอาคารได้ในระยะยาว โดยพลัส พร็อพเพอร์ตี้ เป็นบริษัทไทยรายแรกที่ให้บริการในรูปแบบ Total Facility Management ด้วยบริการที่ครบวงจร

นายชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ยังได้จัดทำเกณฑ์หรือตัวชี้วัดการบริหารค่าใช้จ่ายของอาคารสำนักงานในปี 2557 เพื่อเป็นค่ากลางและใช้เป็นแนวทางการในการบริหารค่าใช้จ่ายของอาคารสำนักงาน ซึ่งทำการสำรวจอาคารสำนักงานชั้นนำในกรุงเทพฯ จำนวน 12 อาคาร (อาคารชั้นนำเกรด A สูง 20 ชั้นขึ้นไป อายุราว 20 ปี สภาพอาคารได้รับการดูแลเป็นอย่างดี) พบว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลอาคารเฉลี่ยอยู่ที่เกณฑ์ 108 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งค่าไฟถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สัดส่วนสูงที่สุดเกินกว่า 50% และหากมีการบริหารพฤติกรรมการใช้พลังงานของผู้อาศัยในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงจุดนี้ได้ราว 5-6%

นายธนา ถิรมนัส กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอพเพอร์ตี้ แคร์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ PCS (Mr.Thana Thiramanus, Managing Director, Property Care Services (Thailand) Ltd) กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาธุรกิจการให้บริการบริหารจัดการอาคารทั่วโลกมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากองค์กรต่างๆ เริ่มทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของการบริหารจัดการอาคาร ทั้งในแง่ของการลดค่าใช้จ่าย การสร้าง/วางแผนกลยุทธ์ร่วมกับองค์กร และการบริหารจัดการทรัพยากรอาคารในองค์รวม โดยสาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากวิกฤตทางการเงินทั่วโลกที่ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต่างๆ หันมาใส่ใจกับการลดต้นทุนของธุรกิจ จึงเสมือนเป็นแรงผลักดันให้เกิดแนวโน้มในการ outsourcing งานด้าน Facility Management (FM) เพิ่มมากขึ้นทั้งในยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศไทย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ตลาด FM ทั่วโลกจะสามารถเพิ่มขึ้นราว 4 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2017

ธุรกิจการบริหารจัดการอาคารในยุโรปนั้น ได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และกำลังเป็นที่แพร่หลายในฝั่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดย OCS เป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Facility Management (FM) ของประเทศอังกฤษที่ก่อตั้งมากว่า 113 ปี และเป็นบริษัทต้นสังกัดของพีซีเอส ประเทศไทย เล็งเห็นถึงการขยายตัวและได้เข้าไปดำเนินการขยายตลาดในภูมิภาค ซึ่ง OCS สามารถเพิ่มยอดขายได้ถึง 46% ทั้งจากการขยายธุรกิจและควบรวมธุรกิจ ซึ่งทำให้โอซีเอสเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้นทั้งในภาคธุรกิจโรงพยาบาล ภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงธุรกิจการบิน

“ในส่วนของพีซีเอส ประเทศไทย เราได้มีการนำ know how จากประสบการณ์การทำงานที่ประสบความสำเร็จในยุโรปของโอซีเอส มาช่วยส่งเสริมในการดำเนินงานในประเทศไทย โดยบริษัทต้นสังกัดมีการส่งทีมเข้ามาสนับสนุน และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้กับระบบบริหารจัดการให้สอดคล้องกับการทำงานของทีมในประเทศไทย เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในยุคของ AEC ที่กำลังจะมาถึงนั้น เราคาดว่าตลาดงาน FM ในประเทศยังไม่มีผลกระทบที่รุนแรง เนื่องจากปัจจุบันบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านงาน FM ยังค่อนข้างมีอยู่น้อย ซึ่งยังคงต้องการทรัพยากรบุคคลด้านดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และอีกจุดแข็งหนึ่งที่สำคัญคือ คนไทยมีคุณสมบัติที่ดีในงานด้านการบริการ เนื่องจากงาน FM เป็นเสมือนตัวกลางในการเชื่อมโยงแต่ละหน่วยงานและภาคส่วนในองค์กร ซึ่งงานด้านการปฏิสัมพันธ์ถือว่าเรายังเป็นจุดแข็งอยู่” นายธนากล่าวเพิ่มเติม

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ก.ค. 2557 เวลา : 11:17:32
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:23 am