เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
หนุน "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้า คสช. นั่งนายกรัฐมนตรี


 

หลังการเปิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ สิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจอย่างมาก คงหนีไม่พ้น บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ภายใต้การสรรหาโดย สนช. ซึ่งบุคคลที่มีน้ำหนักที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย 

 
 
 
ในด้านภาคเอกชน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เปิดเผยถึงคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารประเทศไทยในขณะนี้ จะต้องเป็นคนที่มีความชัดเจน สามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น กล้าตัดสินใจ และที่สำคัญต้องมีความโปร่งใส 

 
 
ขณะที่ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย บอกว่า กระแสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในส่วนของภาคเอกชนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ มีความตั้งใจดี เห็นได้จากช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ท่านได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจเข้ามาแก้ปัญหา ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยเราก็เห็นด้วย ซึ่งตนคิดว่าน่าจะเหมาะสม

 
 
ด้าน นายสมคิด เลิศไพทูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า บุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ขณะนี้มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะการแก้ไขปัญหาหลายเรื่องที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากประชาชน และถ้ามาทำงานเพียงระยะเวลา 1 ปี ก็ไม่ถือว่านานเกินไป 

 
 
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ "กรุงเทพโพลล์" ได้รายงานสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรกับโผคณะรัฐมนตรี (ครม.)" ผลโพลระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช. เป็นบุคคลที่ประชาชนร้อยละ 80.5 เห็นว่าสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนสามารถพึ่งพาได้ หากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเพียงร้อยละ 4.5 ที่เห็นว่าพึ่งพาไม่ได้ และร้อยละ 15.0 ไม่แน่ใจ

สำหรับความเห็นต่อโผ ครม.ว่า มีความเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ ร้อยละ 64.6 เห็นว่ามีความเหมาะสม ส่วนร้อยละ 8.5 เห็นว่าไม่เหมาะสม และร้อยละ 26.9 ไม่แน่ใจ ทั้งนี้ความเหมาะสมในแต่ละตำแหน่งมีดังนี้

 
 
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 81.4 เห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ , ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ร้อยละ 72.0 เหมาะสมจะเป็น รมว.คลัง, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ร้อยละ 70.1 เหมาะสมเป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม, ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ร้อยละ 69.9 เหมาะสมเป็น รมว.พาณิชย์
 

 
 
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ร้อยละ 55.7 เหมาะสมเป็นรองนายกฯ และ รมว.คมนาคม, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ร้อยละ 53.2 เหมาะสมเป็น รมว.มหาดไทย, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ร้อยละ 50.0 เหมาะสมเป็น รมว.พลังงาน

ส่วนความเชื่อมั่นต่อ ครม.ตามโผข้างต้น ในการนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งได้หรือไม่ ร้อยละ 79.5 เชื่อมั่นว่าจะทำได้ แต่ร้อยละ 20.5 ไม่เชื่อมั่น 

และสำหรับความเห็นต่อ ครม.ตามโผข้างต้นว่า จะสามารถนำพาประเทศก้าวผ่านความขัดแย้งได้มากน้อยเพียงใดหลังมีการเลือกตั้งในปีหน้า ร้อยละ 80.4 เชื่อว่าความขัดแย้งจะลดลง ตามด้วยร้อยละ 17.5 เชื่อว่าความขัดแย้งจะมีเหมือนเดิม และร้อยละ 2.1 เชื่อว่าความขัดแย้งจะเพิ่มขึ้น
 

LastUpdate 05/08/2557 06:07:44 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:07 am