แฟชั่น-เดินทาง-กินดื่ม-เที่ยว
หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อวดผลงานศิลปินไทยสู่ชาวโลก


 

เมื่อเอ่ยถึง “เกาะรัตนโกสินทร์”  หลายคนอาจทราบดีว่าย่านนี้รายล้อมด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ มากมายที่น่าเชิญชวนให้ไปเยี่ยมเยือนกัน สถานที่เหล่านี้รวมถึง “หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”  ด้วย  


การเดินทางมาหอศิลป์แห่งนี้ มาง่ายไม่ซับซ้อน อาคารอยู่ริมถนน  ซึ่งเมื่อเร็ว ๆนี้ทีมงานของสำนักข่าวเอซีนิวส์มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่และผลงานศิลปะที่งดงาม น่าประทับใจกันมาแล้ว รับรองว่าคุณไปแล้วจะไม่ผิดหวัง เพราะจะได้สัมผัสกับผลงานศิลปะที่ล้ำค่า เป็นฝีมือของศิลปินชาวไทยเราเองที่น่าทึ่งมาก ๆ และน่าชื่นชมว่า คนไทยมีฝีมือสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก 

 

หอศิลป์ฯแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณที่ทำการของธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า และศูนย์สังคีตศิลป์เดิมที่ ปรับปรุงใหม่เป็นหอศิลป์  ตั้งอยู่เลขที่ 101  ริมถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งจะเปิดทำการในวันพฤหัสบดี – วันอังคาร  ตั้งแต่ 10.00 - 19.00  ปิดวันพุธ  โดยมีอัตราค่าเข้าชมบุคคลทั่วไป 30 บาท นักเรียน นิสิต นักศึกษาในเครื่องแบบหรือแสดงบัตรประจำตัวนักเรียน (ไม่เสียค่าเข้าชม) ผู้สูงอายุ, พระภิกษุ, สามเณรและนักบวชในศาสนาอื่น (ไม่เสียค่าเข้าชม)


คุณสุภัททา สังสิทธิ ผู้อำนวยการหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการตั้งหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แห่งนี้ว่า หอศิลป์ฯแห่งนี้ ถือกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถที่ได้พระราชทานเงินจำนวน 7,000,000 บาท ให้แก่คุณชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปเป็นทุนประเดิมในการจัดสร้างหอศิลป์ ให้เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปกรรมของศิลปินไทยที่มีความสามารถสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ และเพื่อให้เป็นเวทีของศิลปินรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานออกสู่สาธารณชน อีกทั้งใช้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจด้านศิลปะแก่ผู้ที่สนใจให้กว้างขวางต่อไป 


“คุณชาตรี ได้รับสนองพระราชดำรินี้ โดยได้ปรับปรุงอาคารธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า ซึ่งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม บนเกาะรัตนโกสินทร์ ให้เป็นหอศิลป์สมัยใหม่ ที่มีความงดงาม โอ่โถง มีพื้นที่จัดแสดงงาน 5 ชั้น ประมาณ 3,700 ตารางเมตร พื้นที่สำหรับ จัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมมี 4 ชั้น ชั้นที่ 1- 4 เป็นนิทรรศการหมุนเวียนตลอดทั้งปี และชั้นที่ 5 สามารถใช้จัดงานกิจกรรมต่าง ๆ ได้และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสูงสุด ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามตามพระนามาภิไธย


นอกจากนี้ยังได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2546 โดยมีบุคคลสำคัญหลายท่านร่วมเป็นคณะกรรมการ และคณะกรรมการบริหารหอศิลป์ ซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานมูลนิธิฯ


ในพิธีเปิดหอศิลป์วันที่ 9 สิงหาคม 2546  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธาน พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการศิลปกรรมครั้งแรก ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่โปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพศิลปกรรมฝีพระหัตถ์มาจัดแสดงร่วมกับเหล่าศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม ศิลปินเหรียญทองจิตรกรรมบัวหลวง และศิลปินจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯด้วย” 


ปัจจุบันหอศิลป์แห่งนี้เปิดดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของศิลปินไทยหลากหลายประเภทหมุนเวียนตลอดทั้งปี  นับตั้งแต่งานศิลปะแนวประเพณี ตลอดจนถึงงานศิลปะร่วมสมัย และในบางโอกาสยังมีการจัดแสดงผลงานของศิลปินต่างประเทศด้วย  


สำหรับนิทรรศการที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป เป็นนิทรรศการศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ทางหอศิลห์จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี  โดยนำผลงานศิลปนิพนธ์ดีเด่นของนักศึกษา ที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาศิลปะทั่วประเทศมาจัดแสดง เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสแสดงผลงานต่อสาธารณชนและให้เหล่านักศึกษาได้มีโอกาสรู้จักและชมผลงานศิลปนิพนธ์ของเพื่อนนักศึกษาศิลปะต่างสถาบันด้วย


คุณสุภัททา เล่าให้ฟังต่อว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีทั้งผู้มาจัดนิทรรศการและมีนิทรรศการที่จัดโดยหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯเอง รวมกว่า 100 นิทรรศการแล้ว ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ได้รับการตอบรับและสนับสนุนจากเหล่าศิลปินในวงกว้าง ในขณะที่ประชาชนทั่วไปได้ให้ความสนใจติดตามข่าวและเข้าชมนิทรรศการของหอศิลป์เป็นจำนวนมากขึ้นตามลำดับ โดยแต่ละปีมีผู้เข้าชมมากกว่า 200,000 คน ในขณะที่ระยะเวลาการจัดแสดงในแต่ละครั้งจะกินเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชมได้อย่างเต็มที่


“ผลงานที่นำมาจัดนิทรรศการที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ มีที่มาหลากหลายมาก เนื่องจากเรามีนโยบายส่งเสริมศิลปินไทยให้มีพื้นที่จัดแสดงผลงาน และเพื่อเป็นเวทีให้ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ  มีโอกาสนำผลงานคุณภาพมาจัดแสดงให้เป็นรู้จักของผู้เข้าชมที่สนใจ ดังนั้น จึงมีหน่วยงานต่างๆ  อาทิ  สถานเอกอัครราชฑูตต่างประเทศ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษา และศิลปินอาวุโส ทั้งระดับอาจารย์ ศิลปินแห่งชาติ และระดับเริ่มต้นสร้างชื่อเสียง ยื่นความจำนงเพื่อขอใช้สถานที่ ซึ่งทางหอศิลป์ฯ จะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาการแสดงผลงานศิลปกรรมเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้” 

 

คุณสุภัททายังกล่าวด้วยว่า คนไทยมีพัฒนาการด้านทัศนคติและความสนใจศิลปะดีขึ้นแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ทั้งในแง่จำนวนและคุณภาพของผู้ชม  เพราะเดิมทัศนคติที่คนทั่วไปมีต่อศิลปะและศิลปิน อย่างแรกมองว่า ศิลปะเป็นเรื่องของพรสวรรค์สำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น  สองคนมักมองว่า  ศิลปะเป็นเรื่องสำหรับผ่อนคลายอารมณ์ และสามศิลปะเลี้ยงชีพไม่ได้ ไม่ใช่อาชีพที่มั่นคง สิ่งเหล่านี้เป็นประโยคที่มักได้ยินคนกล่าวถึงศิลปะในโอกาสต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่า แม้จะมีการเรียนการสอนศิลปะในระบบการศึกษาพื้นฐานมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ยังไม่สามารถปลูกฝังหรือสร้างทัศนคติที่ดีต่อศิลปะในชีวิตประจำวันให้กับคนที่มีการศึกษาและประชาชนในสังคมได้ ความคิดเห็นของบุคคลทั่วไปที่มีต่อศิลปะและศิลปินจึงยังไม่ได้รับความเข้าใจอย่างแท้จริง  


สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเห็นได้จากการที่ในปัจจุบันได้มีแกลลอรี่ หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะของภาคเอกชนเกิดขึ้นหลายแห่ง เพื่อให้ศิลปินได้มีพื้นที่แสดงผลงาน เผยแพร่ความรู้ความสามารถทางด้านศิลปะของตัวเองเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้เปิดกว้างมากขึ้น ในการเพิ่มเติมหลักสูตรด้านศิลปะในระดับขั้นสูงเทียบเท่าหลักสูตรวิชาการด้านอื่นๆ 


“ทางหอศิลป์เองก็มีส่วนช่วยด้วยการจัดอบรมครูสอนศิลปะ เพื่อให้ไปถ่ายทอดแก่นักเรียนทั่วประเทศโดยในระยะแรกได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กระทรวงศึกษาธิการ แม้ในระยะหลังไม่มีงบสนับสนุนคณะครูก็ยังคงมาอบรมเพื่อพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอยู่ ซึ่งทำมาได้ 6 รุ่นแล้ว” 

 

เชื่อว่า ถ้าใครได้เข้าชมผลงานศิลปะที่หอศิลป์แห่งนี้ จะต้องติดใจและต้องหวนกลับมาเยือนอีกเป็นครั้งที่ สอง ...สาม ..และต่อ ๆ ไป อย่างแน่นอน ดังกรณีของคุณสุภัททาเองเปิดเผยว่า เมื่อก่อนไม่ได้ชื่นชอบผลงานศิลปะเป็นพิเศษ แต่ค่อย ๆ ซึมซับความชอบศิลปะไปโดยไม่รู้ตัว หลังจากมีภาระหน้าที่ต้องมาทำงานใกล้ชิดกับงานศิลปะ โดยเดิมมีงานหลักอยู่แล้วที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ซึ่งต่อมาต้องมาดูแลงานในส่วนของ”มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ” ที่มีกิจกรรมส่งเสริมด้านงานศิลปะมานาน ก่อนต้องมาดูแลหอศิลป์ฯแห่งนี้ด้วยในเวลาต่อมา  


นอกจากคุณสุภัททาแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่หอศิลป์ฯอีกบางส่วนมาจากธนาคารกรุงเทพเช่นกัน เพื่อมาช่วยงาน ต้องถือว่า คุณสุภัททาและทีมงานเป็นบุคคลที่เสียสละ ทำทั้งงานหลักและงานเพื่อสังคมส่วนรวม


สำหรับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพนั้น ธนาคารฯในฐานะองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและได้ดำเนินกิจกรรม งานด้านสังคมและการกุศลมาอย่างต่อเนื่องได้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม


ที่ผ่านมามูลนิธิธนาคารกรุงเทพได้จัดประกวดผลงานศิลปะที่เรียกว่า“จิตรกรรมบัวหลวง”  มาอย่างต่อเนื่อง ปี 2557 นี้เป็นปีที่ 36 แล้ว จนได้รับการยอมรับจากวงการศิลปะว่า เป็นเวทีประกวดการวาดภาพที่ได้มาตรฐาน ศิลปินที่ได้รับรางวัลจากจิตรกรรมบัวหลวงหลายท่านมีฝีมือเป็นที่ประจักษ์และมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ บางท่านได้รับเกียรติสูงสุดในฐานะศิลปินแห่งชาติ


“หลังการประกวด ผลงานที่ได้รับรางวัลจะนำมาแสดงที่หอศิลป์ฯ (ช่วงเดือนสิงหาคม– กันยายน 2557  นี้)หลังจากนั้นจะจัดกิจกรรมสัญจร โดยปีนี้ไปที่จังหวัดน่าน หลังจากปีที่แล้วจัดที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งการสัญจรจะไม่เจาะจงว่าต้องเป็นหัวเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ขอให้มีพื้นที่สำหรับให้ทางมูลนิธิธนาคารกรุงเทพได้จัดแสดงด้วย”


ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ของทางมูลนิธิธนาคารกรุงเทพยังมีงานกิจกรรมเพื่อสังคมทั่วไป การมอบทุนการศึกษาเด็กแก่นักเรียน นักศึกษา ที่เรียนดีแต่ครอบครัวฐานะยากจน ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของเยาวชนไทยในทุกระดับ เช่น การแข่งขันตอบปัญหาเคมีโอลิมปิกนานาชาติ การแข่งขันตอบปัญหาภาษาอังกฤษของกระทรวงศึกษาธิการ และการประชุมสัมมนาวิชาการในระดับมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ


นอกจากนี้ยังร่วมสนับสนุนโครงการจัดประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นด้านการเกษตรร่วมกับทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมนักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และผู้ที่สนใจทั่วไป ร่วมเสนอผลงานการประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เป็นโครงการที่เริ่มตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน


โดยภาพรวมแล้วอาจกล่าวได้ว่า “หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” และมูลนิธิธนาคารกรุงเทพทำงานใกล้ชิดกันจนแทบแยกไม่ออก เพราะมีบุคลากรจากมูลนิธิธนาคารกรุงเทพมาช่วยดูแล ส่งเสริมให้ผลงานศิลปะของศิลปินไทยได้ออกสู่สายตาชาวโลก


ใครสนใจไปเที่ยวชมผลงานศิลปะคุณภาพสอบถามรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-281-5360-1 หรือเข้าชมข้อมูลต่างๆทางเว็บไซต์ www.queengallery.org  และติดตามข่าวสารของหอศิลป์ได้เพียงกด like ที่เพจ www.facebook.com/queengallerybkk  

 


 


LastUpdate 14/08/2557 03:03:04 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:53 am