เอสเอ็มอี
สสว. แจงสถานการณ์ SMEs ครึ่งปีแรก ส่งสัญญาณฟื้นตัว


 

สสว. เผยสถานการณ์ SMEs ครึ่งปีแรก 2557 สัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน เห็นได้จากตัวเลขส่งออก SMEs ขยายตัวอยู่ที่ 980,419.86 ล้านบาท ตลาดหลักมีทั้ง จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สินค้าส่งออก อาทิ อัญมณี พลาสติก เครื่องจักร ขณะที่กิจการตั้งใหม่มีจำนวน 29,466 ราย ปัจจัยสำคัญมาจากการบริหารประเทศของ คสช. ที่เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นต่อการบริโภค การค้า-ลงทุน

 
 
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ SMEs ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม-มิถุนายน) ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดตั้งและยกเลิกกิจการของ SMEs พบว่า สถานการณ์โดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้น ผลการจากการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ออกมาตรการกระตุ้นการค้า-การลงทุน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งส่งผลดีต่อระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชน เห็นได้จากสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักของไทยมีการฟื้นตัว ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการไทย  
 
เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 พบว่า มีทิศทางที่ดีขึ้นโดยการส่งออกของ SMEs มีมูลค่ารวม 980,419.86 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 14.77 ขณะที่เดือนมิถุนายน การส่งออกมีมูลค่า 171,958.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.87 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.02 และหดตัวลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.22 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
 
ตลาดหลักที่ SMEs ไทย ส่งออกสินค้าสูงสุดในช่วงครึ่งปีแรก 2557 ได้แก่ จีน มูลค่า 115,449.04  ล้านบาท รองลงมาคือ ญี่ปุ่น มูลค่า 95,184.91 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 72,224.34 ล้านบาท ฮ่องกง มูลค่า 69,208.39 ล้านบาท และอินโดนีเซีย มูลค่า 46,206.23 ล้านบาท ทั้งนี้ พบว่าเกือบทุกประเทศการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตั้งแต่ร้อยละ 10.78-22.24 ยกเว้นอินโดนีเซีย ที่การส่งออกหดตัวลงร้อยละ 14.60 สำหรับสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยานยนต์และส่วนประกอบ
 
 
 
ด้านการนำเข้าสินค้าของ SMEs ช่วงครึ่งแรกของปี มีมูลค่า 1,074,005.84 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.20 โดยเดือนมิถุนายน การนำเข้าสินค้าของ SMEs มีมูลค่า 179,844.21 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.54 ของมูลค่าการนำเข้ารวมทั้งประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.84 และหดตัวลงจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ร้อยละ 3.47
 
ตลาดที่ SMEs นำเข้าสินค้าช่วงครึ่งปีแรกสูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่ารวม 288,939.91 ล้านบาท รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 158,487.79 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 62,750.90 ล้านบาท สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 53,204.25 ล้านบาท และมาเลเซีย มูลค่า 51,489.34 ล้านบาท โดยสินค้าที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ
 
 
สำหรับการจัดตั้งและยกเลิกกิจการ SMEs ช่วงครึ่งปีแรก 2557 (มกราคม-มิถุนายน) พบว่า กิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีจำนวน 29,466 ราย หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลัง 2556 ร้อยละ 4.7 โดยทุนจดทะเบียนของกิจการจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 118,763 ล้านบาท หดตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลัง 2556 ร้อยละ 25.01 ประเภทกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุดในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เป็นที่พักอาศัย ขายส่งเครื่องจักร บริการอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร และกิจกรรมให้คำปรึกษา
 
ส่วนการจดทะเบียนยกเลิกกิจการ มีจำนวน 5,850 ราย ลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลัง 2556 คิดเป็นร้อยละ 51.43 โดยทุนจดทะเบียนของกิจการที่ยกเลิกมีมูลค่า 24,203 ล้านบาท หดตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลัง 2556 ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 68.15 ประเภทกิจการที่มีการยกเลิกมากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ การขายสลากกินแบ่ง ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่ที่พักอาศัย บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร
 
อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนของภาครัฐ และเร่งรัดกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 รวมถึงเตรียความพร้อมในใช้งบประมาณประจำปี 2558 จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ให้มีทิศทางการขยายตัวที่ดียิ่งขึ้น

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ส.ค. 2557 เวลา : 10:56:15
21-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 21, 2024, 12:07 am