เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ความละเมียดละไม ในการให้สินเชื่อกับบุคคลที่เปลี่ยนไปจากอดีต


 

หลังจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 82% ต่อ GDP ผมได้ไปออกรายการกับคุณฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ กรุงศรีคอนซูมเมอร์ (ท่านที่ส่งคำท้ากับอดีตนายกอภิสิทธิ์ในการเอาน้ำแข็งรดตัวเองเพื่อบริจาคให้สภากาชาดไทย 500,000 บาทตามที่เป็นข่าว) ได้กล่าวอย่างชัดเจนสรุปได้เป็นข้อมูลน่าสนใจว่า

1. เรื่องหนี้ครัวเรือนทำให้ธุรกิจการให้สินเชื่อกับบุคคลหรือ Consumer Finance มีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น และสถาบันการเงินต้องมีความระมัดระวังในการทำธุรกิจ มีความละเมียดละไมในการเลือกและวิเคราะห์ลูกค้าที่มายื่นขอกู้ทั้งเก่าและใหม่มากขึ้น

2. เฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน กลุ่มนี้กรุงศรีคอนซูมเมอร์ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อให้แล้ว

3. กลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้ 10,000 - 30,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มลูกค้าผู้ที่มี รายได้ 50,000 - 100,000 บาทต่อเดือนนั้น  กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่เริ่มมีสัดส่วนหนี้สินที่ต้องชำระในแต่ละเดือนเทียบกับรายได้ที่ได้รับนั้นสูงขึ้นเนื่องจากการซื้อรถยนต์ในโครงการรถคันแรก  ทำให้มีนโยบายที่จะชะลอการให้สินเชื่อและต้องมีการเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อบุคคลหรือ Personal Loan อีกครั้ง โดยได้เพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อส่วนบุคคลหรือ Personal Loan ด้วยการลดวงเงินสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่มีสัดส่วนหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือนต่อรายได้ในเดือนนั้นๆ เข้มข้นขึ้นหรือควบคุมวงเงินไว้ที่ระดับเดิม 

4. สินเชื่อบัตรเครดิตไม่มีอะไรน่าห่วง หนี้เสียน้อย ประกอบกับมาตรการของการกำกับดูแลนั้นเข้มงวดมากขึ้นอยู่แล้ว

5. จากข้อมูลที่เปิดเผยออกมาระบุว่าสัดส่วนหนี้ที่ถึงกำหนดต้องชำระต่อรายได้ในแต่ละเดือนของลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลควรอยู่ที่ระดับ 40-50% (มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือนควรมีภาระหนี้ที่ต้องชำระรวม 8,000 - 10,000 บาท ถ้าเกินกว่านี้อาจถือว่าไม่ปลอดภัย มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ) แต่ว่าในเวลานี้สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 50%-60% บางรายอาจปรับขึ้นไปสูงถึง 65% ของรายได้ ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น แต่รายได้เท่าเดิม สถาบันการเงินผู้ให้กู้หากภาระหนี้ต่อรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นก็เป็นเรื่องที่น่ากลัว ดังนั้น จึงต้องเพิ่มความเข้มงวดในเงื่อนไขการให้สินเชื่ออีกครั้ง และดูข้อมูลประวัติการชำระหนี้ในอดีตของลูกค้าที่เก็บอยู่ในเครดิตบูโรนานขึ้น (มองย้อนหลังลงไปนับจากวันที่มายื่นขอกู้ในปัจจุบัน 12 เดือน 18 เดือน หรือ 24 เดือนตามนโยบายแต่ละแห่ง)

ผู้บริหารระดับสูงท่านนี้ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า "เราเปรียบสถานการณ์ตอนนี้เหมือนกับว่าตัวเราขับรถอยู่ เมื่อถึงทางโค้งเราก็ต้องเหยียบเบรกเพื่อชะลอความเร็วของรถให้ช้าลง ดังนั้น เมื่อการทำธุรกิจตอนนี้เหมือนเราอยู่ในทางโค้ง  เราก็ต้องชะลอ ต้องระวัง คุมพวงมาลัยและทิศทางให้ได้ ถ้าปล่อยหรือประมาท ไม่รอบคอบเราก็อาจแหกโค้งได้ ซึ่งเราต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้น ดังนั้น ท้ายที่สุดหากเราส่งสัญญาณไปยังกองหน้าหรือฝ่ายขายว่าไม่ชะลอการหาลูกค้าลงมา เราก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นในการรับมาเป็นลูกค้าในเวลานี้"

 

อ่านมาถึงตรงนี้ทุกท่านคงจะเข้าใจรากฐานที่มาของการแตะเบรกสินเชื่อส่วนบุคคลของสถาบันการเงินที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด ย้ำอีกทีครับ เขาระวังและเพิ่มความละเมียดละไมในการเลือกและวิเคราะห์ลูกค้าที่มายื่นขอกู้ทั้งเก่าและใหม่มากขึ้น ไม่ใช่ระงับนะครับเพราะธุรกิจต้องเดินต่อไป

 

สุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


LastUpdate 25/08/2557 20:28:49 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:35 pm