เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"พาณิชย์"กัดฟัน คงเป้าส่งออกปีนี้ โต 3.5%


 

ตัวเลขการส่งออกในเดือนก.ค.ที่กลับมาติดลบ 0.85% สะท้อนถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่จะขยายตัวไม่ได้สูงมากอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แม้กระทรวงพาณิชย์ จะยังคงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ 3.5%

 

 

โดย นางดวงกมล เจียมบุตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หากช่วงเวลาที่เหลือตั้งแต่เดือน ส.ค.-ธ.ค.57 ยังสามารถส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 20,980 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หากสามารถส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 20,027 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะทำให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ 1.9% และหากสามารถส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะทำให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ 1.4% แต่มั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวไม่ติดลบแน่นอน

และจากการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีสัญญานที่ดี ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และความต้องการของต่างประเทศ อย่างกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกา ก็อาจส่งผลให้มียอดสั่งซื้อสินค้า ด้านสุขอนามัยเพิ่มมากขึ้น เช่น ถุงมือยาง เจลทำความสะอาด ทำให้เชื่อว่ายอดการส่งออกในเดือน ส.ค.57
จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้ง หลังมียอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศทยอยเข้ามาแล้ว

 
 
แต่สำหรับมุมมองของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ถึงมูลค่าการส่งออกเดือน ก.ค.57 ที่กลับมาหดตัวลง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้น้อยลงที่การส่งออกในปี 57 จะขยายตัวใกล้เคียงประมาณการณ์กรณีพื้นฐานที่ 3% แต่เนื่องจากปัจจัยในเดือน ก.ค.บางส่วนอาจเป็นปัจจัยชั่วคราว
ดังนั้นจึงรอติดตามข้อมูลการส่งออกในเดือน ส.ค.57 ก่อนที่จะทบทวนกรอบประมาณการสำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ใหม่อีกครั้ง 

 
 
 
ส่วนแนวโน้มการส่งออกไทยในครึ่งหลังปี 2557 แม้การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (27) และประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (ซึ่งมีสัดส่วนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2557 รวมกันประมาณ 29.6% ต่อการส่งออกโดยรวมของไทย) จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงไม่สามารถชดเชยผลจากคำสั่งซื้อที่ชะลอตัว/ฟื้นตัวล่าช้าในตลาดส่งออกสำคัญอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในเอเชียได้ ซึ่งทำให้จังหวะการขยายตัวของการส่งออกของไทยยังคงไม่เป็นภาพที่มีความต่อเนื่อง 

ขณะเดียวกันทิศทางการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ต้องยอมรับว่า สถานการณ์การฟื้นตัวที่เปราะบางในภาคการผลิตและเศรษฐกิจโดยรวมของจีน เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากจะมีผลกดดันโดยตรงต่อแนวโน้มการส่งออกไทยไปจีนในภาพรวมแล้ว ก็ยังอาจมีผลทางอ้อมให้การส่งออกไปยังเอเชียบางตลาด 

ขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีผลทำให้สินค้าส่งออกของไทยหลายประเภท เผชิญโจทย์ความสามารถในการแข่งขัน และแนวโน้มความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ย่อมจะมีผลจำกัดกรอบการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ส.ค. 2557 เวลา : 20:54:12
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 1:13 pm