เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"หนี้ครัวเรือนไทย" ยังน่าห่วง


 

แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาพยายามแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ แต่หนี้ครัวเรือนของไทยก็ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลในชุดที่ผ่านมา 


 
 
 
 
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของโลก อย่าง สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่อง "แนวโน้มภาคการธนาคารไทยและการระดมทุนแบบไฮบริด ภายใต้เกณฑ์บาเซิล 3"  ว่า สถาบันการเงินไทยถูกจัดอันดับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากระดับ 5 เป็น 6 เมื่อสิ้นปี 2556 โดยสาเหตุสำคัญมาจากภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวและผลกระทบจากปัญหาการเมือง ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ แม้ว่าในตัวสถาบันการเงินเองจะค่อนข้างแข็งแกร่งจากฐานะกองทุนและสภาพคล่องที่ยังสูง

ทำให้สถาบันการเงินไทยมีความท้าทายในการทำธุรกิจ โดยเอสแอนด์พียังให้น้ำหนักความเสี่ยงกับประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซา และปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 83% ของจีดีพี ถือเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาคธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ เพราะลูกหนี้มีความเสี่ยงผิดนัดชำระ
แม้จะเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งมีหนี้ครัวเรือน 74% และ 87% ตามลำดับ แต่สองประเทศดังกล่าวมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าไทยมากกว่าครึ่ง

ขณะที่สถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อรายย่อยที่มีความเสี่ยง ได้แก่ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิต สัดส่วน 16% ของสินเชื่อที่ปล่อยทั้งหมด สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศสำคัญในเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มากที่สุดถึง 2.3% และยอดผิดนัดชำระมีอัตราสูงถึง 8.2% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2557

เอสแอนด์พี ยังคาดว่า หนี้เอ็นพีแอลและอัตราการผิดนัดชำระหนี้ในอุตสาหกรรมธนาคารของไทยจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะส่งผลให้ธนาคารเริ่มเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพื่อควบคุมเอ็นพีแอล แต่ยังคงเชื่อว่าภาคธนาคารไทยจะสามารถบริหารจัดการเอ็นพีแอลให้อยู่ในวงจำกัดได้

 
 
 
ตัวเลขดังกล่าว สอดคล้องกับผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แถลงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 87.2% ยังคงชำระหนี้บางส่วน และไม่ชำระหนี้เลย

ขณะที่ผู้ใช้บัตรที่ชำระยอดหนี้ทั้งหมดมีเพียง 12.8% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่นิ่ง ส่งผลให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตส่งสัญญาณค่อนข้างมีปัญหา

 
 
 
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า อาชีพที่มียอดค้างชำระหนี้บัตรเครดิตสูงที่สุด คือ อาชีพรับจ้าง และนักศึกษา ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการสร้างหนี้ในกลุ่มเยาวชนและอาจนำไปสู่พฤติกรรมสร้างหนี้ที่ไม่เหมาะสมในอนาคต เมื่อเปรียบเทียบระหว่างหนี้กับรายได้ พบว่า ประชาชน 47.4% มีหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้

ทั้งนี้ ยอด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2557 จำนวนบัตรเครดิตทั้งระบบ มีทั้งสิ้น 19 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 9.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2556 ที่มีจำนวน 18 ล้านใบ และคิดเป็นมูลค่าการใช้เงินผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 5.7% และคาดว่าสิ้นปีจำนวนบัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านใบ ขณะที่การใช้จ่ายผ่านบัตรจะขยายตัว 5.2%
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ย. 2557 เวลา : 01:14:18
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:07 pm