เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ขสมก.-แท็กซี่" เตรียมขอปรับค่าโดยสาร


 

หลังจากที่ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ปรับราคาขายปลีก LPG ภาคขนส่งเพิ่ม 0.62 บาทต่อกิโลกรัม จาก 21.38 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 22.00 บาทต่อกิโลกรัม และราคาขายปลีก NGV ขยับขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัม จาก 10.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 11.50 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป เพื่อให้ราคา LPG ภาคขนส่งสะท้อนต้นทุนมากขึ้น ลดการลักลอบใช้ผิดประเภท ลดภาระกองทุนน้ำมัน ซึ่งราคา LPG ที่ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลยังถูกมากกว่า 50%

 

 

 

ประเภท               อัตราการปรับ         ราคา (บาท/กก.) 

 

LPG (ขนส่ง)             + 0.62                  22.00

 NGV                          +1.00                   11.50

 
 
 
 
 
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาพลังงานครั้งนี้ ได้แก่ สมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน ผู้ประกอบการรถโดยสารร่วมบริการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)  ซึ่ง นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมฯ ยืนยันว่า สมาคมยังคงที่จะขอปรับราคาค่าโดยสารขึ้น เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ ต้นทุนค่าแรง และรายจ่ายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจากตันทุนค่าเชื้อเพลิงที่ราคา 8.50 บาท จึงจำเป็นที่จะต้องขอปรับราคาค่าโดยสาร

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย บอกว่า แม้ กบง.จะ มีมติเห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีก LPG ภาคขนส่งและราคาNGV เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของผู้ประกอบการรถบรรทุกไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ใช้น้ำมันดีเซล และอีกร้อยละ 10 ใช้ก๊าซ NGV ดังนั้นจึงคาดว่าค่าขนส่งและราคาสินค้าจะยังไม่ปรับขึ้นถึงสิ้นปีนี้

 
 
 
 
ส่วนที่ได้ประโยชน์จากราคาพลังงานที่ปรับขึ้นในครั้งนี้ คงหนีไม่พ้น บริษัทปตท. หรือ PTT ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายก๊าซ ที่ต้องแบกรับผลขาดทุนมาช้านาน โดย นายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซ ธรรมชาติของ บริษัท ปตท. ระบุว่า หลังการปรับขึ้น NGV ครั้งนี้ จะทำให้ ปตท.ขาดทุนจากธุรกิจดังกล่าว ลดลง 500 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ ขณะที่จะขาดทุนลดลงราว 2 พันล้านบาทต่อปี จากปกติที่ขาดทุนจาก ธุรกิจ NGV กว่า 2 หมื่นล้านบาท/ปี เนื่องจากการขาย NGV ที่ระดับราคาปัจจุบันต่ำกว่าต้นทุนของปตท.ที่อยู่ราว 15-16 บาท/ก.ก. ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงขณะนี้ปตท.มีผลขาดทุนสะสมจากการตรึงราคา NGV ราว 1 แสนล้านบาท
 
 
 
 
 
การปรับราคาพลังงานในครั้งนี้ จะทำได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการลดการนำน้ำมันไปใช้ผิดประเภทได้หรือไม่ คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ที่ได้รับผลกระทบแน่ๆ นั่นคือ ต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น จนอาจฉุดการใช้จ่ายผู้บริโภคที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว
 

LastUpdate 02/10/2557 11:18:26 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:00 pm