แบงก์-นอนแบงก์
ธ.ก.ส.เปิดตัวมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว


 

ธ.ก.ส.ดีเดย์เริ่มมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิตปี 2557/2558 ประสาน 4  หน่วยงานขับเคลื่อนโครงการลดต้นทุนให้เกษตรกรและผลักดันให้ระบบสหกรณ์มีความเข้มแข็ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนพร้อมอัดฉีดเงิน 20,000 ล้านบาทเข้าสู่ระบบ 1 ตุลาคมนี้

 
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมจัดงานเปิดตัวโครงการ “มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูการผลิตปี 2557/25”  โดยมีนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร
 

 
 
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการธนาคารได้มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2557/58 ตามมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 3 โครงการ คือ  โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ลงร้อยละ 3 ต่อปี รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน  วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 2,292 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ ธ.ก.ส.แทนเกษตรกร  คาดมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 3.57 ล้านราย
 
โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เข้าไปช่วยเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาเป็นปริมาณมากและมีราคาตกต่ำ  ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการชะลอการขายโดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนและภาระหนี้สิน  เพราะสามารถนำผลผลิตคือข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวมาขอกู้กับ  ธ.ก.ส.ในอัตราร้อยละ 80 ของราคาตลาด ในวงเงินไม่เกินรายละ 300,000 บาท  โดยไม่เสียดอกเบี้ยกำหนดชำระคืนภายใน 4 เดือนนับถัดจากเดือนรับเงินกู้  เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 
 
เป้าหมายดำเนินการในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหลือ  จำนวนข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 17,280 ล้านบาท  และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร  ได้แก่ สหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร  เพื่อกระตุ้นให้องค์กรของเกษตรกรเข้ามามีส่วนช่วยในการรักษาระดับราคาผลผลิตข้าวรวมทั้งมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต  โดยการไปรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อการจำหน่าย วงเงินสินเชื่อ 18,000 ล้านบาท  และเพื่อนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท รวมวงเงิน 20,000  ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MLR -1 (ปัจจุบัน MLR  เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี) โดยสถาบันเกษตรกรจ่าย 1% และรัฐบาลชดเชย 3%
โดยที่ผ่านมา ธ.ก.ส.และหน่วยงานทั้ง 3  แห่งข้างต้นได้ร่วมกันจัดทำหลักเกณฑ์ คู่มือปฏิบัติงานและประชาสัมพันธ์โครงการซักซ้อมทำความเข้าใจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ทั้งนี้  ธ.ก.ส.ได้เริ่มปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายแล้วตั้งแต่วันที่  1 ตุลาคมที่ผ่านมา  เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เดินหน้าต่อไปซึ่งเป็นการสนับสนุนระบบสหกรณ์และขบวนการสหกรณ์ ให้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการเป็นผู้ค้าสินค้าเกษตรรายใหญ่  เชื่อมโยงกับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อช่วยคานอำนาจให้กลไกตลาดมีความสมดุลและแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
 

บันทึกโดย : วันที่ : 02 ต.ค. 2557 เวลา : 13:57:59
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 9:52 am