เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ชำแหละ "มาตรการช่วยชาวนา 4 หมื่นล้านบาท"


 
 
 
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่คณะรัฐมนตรี (ครม. )มีมติอนุมัติเงิน 4 หมื่นล้าน ให้เกษตรกรชาวนาไร่ละหนึ่งพันบาท เฉพาะในรายที่มีที่ดินเป็นของตัวเองครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ จำนวน 3.4 ล้านครอบครัว เพื่อลดต้นทุนการผลิต กำลังเป็นถกเถียงกันถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับการใช้เงินในมาตรการดังกล่าว 

 
 
 
โดย นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการชั่วคราวทำครั้งเดียวไม่มีการผูกพันให้ทำในปีต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจปีนี้ตกต่ำจนต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ และการแจกเงินชาวนาจะเริ่มได้เดือน ต.ค. นี้เป็นต้นไป ซึ่งไม่ถือว่าเป็นโครงการประชานิยม แต่เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นการช่วยเหลือชาวนาที่ยากจนจริง มีพื้นที่เพาะปลูกไม่เกิน 15 ไร่ และมาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับฐานะการเงินการคลังแต่อย่างใด

 
 
 
สอดคล้องกับมุมมองของ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เห็นว่า เงินช่วยเหลือชาวนา 4 หมื่นล้านบาท ไม่ใช่นโยบายประชานิยม เพราะเม็ดเงินจำกัดและชัดเจน และเป็นการช่วยเหลือชาวนายากจนจริงๆ 
 

 
 
ส่วน นายกรณ์ จาติกวณิชย์ อดีตรมว.คลัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงข้อดีข้อเสียนโยบายแจกเงินชาวนาว่า หลักคิดไม่ต่างจากเช็คช่วยชาติในสมัยวิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 ที่ให้ 2,000 บาทแก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 ต่อเดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและกระตุ้นการบริโภค และคล้ายกองทุน SML ของรัฐบาลพลังประชาชนที่มีเจตนาเป็นทุนให้หมู่บ้านไปทำโครงการที่เป็นประโยชน์

แต่อย่างไรก็ตามมีข้อด้อยในทางปฏิบัติ คือ ตามข้อเท็จจริงมีชาวนายากจนที่ไม่มีที่ทำกินของตนเองเกือบ 800,000 ครอบครัว จะรับเงินช่วยเหลือได้หรือไม่ และจะมีเกณฑ์รับอย่างไร และจะช่วยเหลืออย่างยั่งยืนอย่างไรต่อไป 
 

 
 
ส่วนมุมมองชาวนา นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ยอมรับว่า การที่รัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทนั้น ไม่เพียงพอกับต้นทุน เพราะขณะนี้ต้นทุนการปลูกข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 5,000 บาท แต่ก็ดีใจที่รัฐบาลเมตตาชาวนา 
 

 
 
นายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลในระดับหนึ่ง แต่อยากให้ขยายเงินช่วยเหลือ 20-25 ไร่ต่อครอบครัวจะเหมาะสมกว่า เพราะจากการประชุมครั้งล่าสุดที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่26 กันยายน ที่ผ่านมา ตัวแทนและแกนนำชาวนาได้เสนอต่อที่ประชุมไป 40 ไร่ต่อครอบครัว
 
 

 
 
และสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อย นายบุญยง ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทซิงเกอร์ประเทศไทย เห็นว่า มาตรการช่วยลดต้นทุนการผลิตชาวนาไร่ละ 1,000 บาท รวมมูลค่า 40,000 ล้านบาท ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้จริงตามที่รัฐบาลต้องการ เนื่องจากเม็ดเงินส่วนใหญ่ถึง 3 ใน 4 ชาวนานำไปใช้หนี้สถาบันการเงินและหนี้นอกระบบ หลังจากเศรษฐกิจซบเซามานาน และปัจจุบันปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้นอกระบบก็ยังอยู่ในระดับสูง 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 04 ต.ค. 2557 เวลา : 08:10:25
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:13 pm