แบงก์-นอนแบงก์
ธ.ก.ส. พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท


 ธ.ก.ส. ระดมกำลังสาขาเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2557/58 ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เตรียมชี้แจงให้เกษตรกรรับทราบถึงขั้นตอนการดำเนินงาน การตรวจสอบข้อมูลเพื่อสร้างความโปร่งใส ช่วยให้เงินถึงมือเกษตรกรอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง คาดเงินดังกล่าวช่วยให้ชาวนามีรายได้ที่เหมาะสม ลดผลกระทบจากปัญหาการขายผลผลิตได้ในราคาต่ำ และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม

 
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2557/58 เพิ่มเติมจากมาตรการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว โดยกำหนดให้ดำเนินโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกครัวเรือน ตามพื้นที่ที่ปลูกข้าวจริงแต่ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้มีรายได้ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ ซึ่งนอกจากช่วยลดภาระค่าครองชีพของเกษตรกรแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภาคครัวเรือน ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมมีการขยายตัว
 
ทั้งนี้ในส่วนของ ธ.ก.ส.ได้มีการซักซ้อมแนวทางการดำเนินงานไปยังสาขา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จำนวน 3.49 ล้านครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีประมาณ 63.8 ล้านไร่และวงเงินชดเชยประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยจะชี้แจงให้เกษตรกรทราบถึงขั้นตอนการดำเนินงาน เช่น การแจ้งขอขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับเกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นผู้ออกใบรับรองให้เกษตรกร จากนั้นจึงไปแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการที่ ธ.ก.ส. โดยแนบสำเนาใบรับรองเกษตรกร สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝาก สำเนาบัตรประชาชน ซึ่ง ธ.ก.ส.จะตรวจสอบความถูกต้องกับข้อมูลในระบบของกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งจำนวนเงินชดเชยและเลขที่บัญชีเงินฝาก เมื่อถูกต้อง ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง พร้อม ๆ กับการจัดเตรียมทีมพนักงาน ธ.ก.ส.บางส่วนสุ่มตรวจสอบการเพาะปลูกข้าวของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการทำงานดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเงินดังกล่าวถึงมือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างแท้จริงและทั่วถึง โดยกำหนดจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเกษตรกรที่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป
 
นายลักษณ์กล่าวอีกว่า ราคาสินค้าเกษตรหลัก ๆ ของไทยมีแนวโน้มอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าว ซึ่งผลผลิตกำลังทยอยออกสู่ตลาด ประกอบกับมีปริมาณข้าวที่ยังค้างสต็อคอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้ผู้ซื้อกดราคาผลผลิต เป็นเหตุให้เกษตรกรมีส่วนเหลื่อมรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไม่มากนัก ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ ซึ่งการจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการครั้งนี้นอกจากช่วยให้ชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้ที่พออยู่ได้และมีกำลังใจในการประกอบอาชีพซึ่งเป็นรากฐานและหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจแล้ว เม็ดเงินดังกล่าวยังกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภาคครัวเรือน ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
 
สำหรับมาตรการที่ คสช.มีมติให้ ธ.ก.ส. เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการดำเนินงานในขณะนี้ ประกอบด้วย โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ลงร้อยละ 3 ต่อปี รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เข้าไปช่วยเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาเป็นปริมาณมากและมีราคาตกต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการชะลอการขายโดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนและภาระหนี้สิน โดยสามารถนำผลผลิตคือข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวมาขอกู้กับ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 80 ของราคาตลาด ในวงเงินไม่เกินรายละ 300,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย กำหนดชำระคืนภายใน 4 เดือนนับถัดจากเดือนรับเงินกู้ เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 เป้าหมายดำเนินการในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหลือ จำนวนข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 17,280 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร เพื่อกระตุ้นให้องค์กรของเกษตรกรเข้ามามีส่วนช่วยในการรักษาระดับราคาผลผลิตข้าวโดยการรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อการจำหน่าย และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแบบยั่งยืนให้กับเกษตรกร จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานดังกล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ต.ค. 2557 เวลา : 11:48:02
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:37 pm