เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงสุดรอบ 8 เดือน สะท้อนครัวเรือนมองภาวะค่าครองชีพดีขึ้น


 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้หลังการเมืองเริ่มคลี่คลาย ช่วยดันดัชนีภาวะเศรษฐกิจภาครัวเรือนแตะระดับ 45.3 สูงสุดรอบ 8 เดือน จากค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าที่ลดลง เผยครัวเรือนส่วนใหญ่ยังกังวลค่าครองชีพ – ภาระหนี้ในระยะข้างหน้า พร้อมประเมินจีดีพีไทยปีนี้โต 1.6 %

 


 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมาดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 45.3 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 47.1 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมที่อยู่ระดับ 43.0 แต่ยังต่ำกว่าค่าดัชนีสูงสุดในต้นปีที่อยู่ระดับ 47.9 สะท้อนว่า หลังการเมืองคลี่คลายภาคครัวเรือนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะราคาสินค้าและค่าใช้จ่ายปรับตัวลดลง นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของภาคการบริโภคในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้

ทั้งนี้ แม้บรรยากาศการใช้จ่ายในภาพรวมจะทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่คาดว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนอาจยังเป็นไปในกรอบที่จำกัด เพราะภาคครัวเรือนยังมีความกังวลทุกด้าน ทั้งเรื่องเงินเดือน ค่าครองชีพ ภาระในการชำระหนี้ ซึ่งความกังวลที่ยังมีอยู่ส่งผลให้การบริโภคยังขยายตัวในกรอบจำกัด ซึ่งประมาณการณ์การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในครึ่งปีหลังของปีนี้จะอยู่ที่ 3% เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกที่หดตัว 1.4 % อย่างไรก็ตาม คาดว่าแรงกดดันต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ น่าจะเริ่มบรรเทาลงในไตรมาสที่ 3 นี้
 

 

 
ด้าน นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด  กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาภายใต้วงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท นั้น จะเริ่มส่งผลต่อจีดีพีในปีหน้าเป็นหลัก ส่วนปีนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้เพียง 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อจีดีพีราว 1% แต่เนื่องจากภาคการส่งออกที่ชะลอลงกว่าที่คาด  และภาคการท่องเที่ยวที่กำลังเริ่มฟื้นตัว เป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ 1.6 % น้อยกว่าที่คาดการณ์เดิมที่ 2.3 %

ส่วนการคาดการณ์ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 ยังมีปัจจัยลบเรื่องการส่งออกและการบริโภคในประเทศ ที่เรื่องค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนยังกดดันอยู่ รวมทั้งทิศทางของเศรษฐกิจกลุ่มยุโรป จีน และ ญี่ปุ่น ที่ยังชะลอตัว แต่ยังมีเม็ดเงินจากมาตรการของภาครัฐที่จะใส่เข้ามา ทำให้ประเมินว่า จีดีพีของไทยจะเติบโตได้ราว 3.5- 4.5% โดยภาครัฐต้องเดินหน้าเรื่องปฏิรูปและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นได้มากที่สุด

ทั้งนี้ยังต้องติดตามเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) เพราะหลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี อาจจะทำให้เฟดตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ซึ่งจะกดดันตลาดเงินของไทย โดยหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง 0.50 % ก็อาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นในอัตราเดียวกันได้เช่นกัน

โดยจะมีผลให้ค่าเงินบาทของไทยอาจจะผันผวนได้ ซึ่งในปลายปีนี้ประเมินว่าค่าเงินบาทของไทยมีโอกาสอ่อนค่าแตะระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2558 ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าในระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้

 
 
      

บันทึกโดย : วันที่ : 10 ต.ค. 2557 เวลา : 13:55:20
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:48 am