เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"หนี้ครัวเรือน" ปัญหาที่ท้าทายของรัฐ


ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้นอกระบบที่ยังอยู่ในระดับสูง นับเป็นปัญหาที่ท้าทายของรัฐบาลชุดนี้

 

 

ซึ่ง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่าการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ต้องแก้ด้วยการสร้างรายได้ให้ประชาชน การพยายามขยายศักยภาพในการสร้างโอกาสทำมาหากิน และ ประชาชนต้องรู้จักการแบ่งรายได้เก็บออมให้สอดคล้องกับรายจ่าย ซึ่งทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันในการให้ความรู้กับประชาชน โดยให้ยึดหลัก “รู้จักแบ่งรายได้ ก็ไม่ต้องแบกหนี้” ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยูในระดับที่สูงถึง 83% ของจีดีพี ธปท. ยังจับตาอย่างใกล้ชิด แม้อัตราการเพิ่มขึ้นจะชะลอลง แต่เชื่อว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนยังต้องใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะเริ่มลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจทื่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 
 
 
 
ขณะที่ นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจประชาชนถึงสถานการณ์ต่างๆภายในประเทศว่า ปัญหาหลักของประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของหนี้สิน รองลงมาเป็นราคาสินค้าแพง และราคาพืชผลตกต่ำ ส่งผลให้ประชาชนต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือส่วนหนึ่งนำไปชำระหนี้เดิม 
 
แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ สัดส่วนหนี้นอกระบบได้เพิ่มจากการสำรวจครั้งก่อนที่มีสัดส่วน 49.1% เป็น 50.4% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่หนี้นอกระบบของประชาชนสูงกว่าหนี้ในระบบ และส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือนกู้มากที่สุด  ส่วนยอดหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในภาพรวมก็เพิ่มจาก 210,000 บาท เป็น 220,000 บาทต่อครัวเรือน

 
 
 
สอดคล้องกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ยอมรับว่า ปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนไทยยังไม่ลดลง และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในอัตราที่ทรงตัว หรืออาจขยับในอัตราเพิ่มที่ลดลง โดยเชื่อว่าอัตราเพิ่มหนี้ครัวเรือนต่อจากนี้จะขยับอย่างต่ำปีละ 1% โดยปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับ 85% เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่ผ่านมาที่อยู่ระดับ 83%

ส่วนกลุ่มที่น่ากังวลมากที่สุด คือ ภาคการเกษตร ที่จะประสบปัญหาหนักกว่ากลุ่มอื่น เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนและกู้ยืมจากธนาคารตามปกติเหมือนกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป เนื่องจากมีรายได้ไม่สม่ำเสมอและมีหนี้สินจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อได้รวดเร็วและมากขึ้น

 
 
 
ขณะที่กลุ่มที่ใช้สินเชื่อนอกระบบก็น่าเป็นกังวลเช่นกัน เนื่องจากตอนนี้ภาระการชำระหนี้ประชาชนอยู่ที่ประมาณ 30% และเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้ภาคครัวเรือนมากขึ้น 
 
ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะอยู่ที่ 4-5 % ในขณะที่หนี้ครัวเรือนคาดว่าจะอยู่ที่ 86 - 87% แม้จะอยู่ในระดับที่สูง แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านถือว่าไม่น่าห่วงมากนัก เช่น ในสหรัฐช่วงเศรษฐกิจดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 90 % ต่อจีดีพี 
 
และแม้ในระยะต่อไป ความเสี่ยงการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยสหรัฐ จะปรับเพิ่มขึ้นกลางปีหน้า และกดดันกับต้นทุนของสถาบันการเงิน อาจส่งผ่านมายังผู้กู้ แต่ความเสี่ยงการขึ้นดอกเบี้ยอาจถูกเลื่อนออกไป หรือหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็น่าจะปรับในอัตราที่ไม่สูงมาก ทำให้ลูกหนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบในระยะสั้น แต่ต้องใช้เวลา 2-3 ปี
 

บันทึกโดย : วันที่ : 17 ต.ค. 2557 เวลา : 05:19:38
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 4:27 pm