เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังเล็งใช้ "นาโนไฟแนนซ์" แก้หนี้นอกระบบ


สถานการณ์หนี้นอกระบบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินได้ยาก ซึ่งจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ในเรื่องดังกล่าว นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เตรียมเสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ผ่านโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยจะให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ พิจารณาภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์ และหลังจากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา


 
 
 
สำหรับแนวทางเบื้องต้น การปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะให้เอกชนที่เข้าร่วมโครงการขึ้นทะเบียนกับรัฐ เพื่อให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนในวงเงินไม่เกิน 1-1.2 แสนบาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ระหว่างการหารือ อาจจะอยู่ในช่วง 32-36% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตเล็กน้อย และในส่วนนี้อาจดึงกรมสรรพากรมาดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเอกชนที่เข้ามาจดทะเบียนถือเป็นนิติบุคคลต้องมีการเสียภาษี แต่จะลดอัตราภาษีให้ครึ่งหนึ่ง

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาคลังได้หารือกับ ธปท.เรียบร้อยแล้ว และ ธปท.เห็นด้วยและสนับสนุนเต็มที่ ยืนยันว่าโครงการนาโนไฟแนนซ์ไม่ได้เป็นการเพิ่มปัญหาหนี้ให้ครัวเรือน แต่จะเป็นการทดแทนหนี้ครัวเรือนในส่วนที่เป็นหนี้นอกระบบ จะทำให้สถานการณ์ในส่วนนี้ดีขึ้น หนี้ครัวเรือนที่สูงไม่ได้เกิดจากการกู้อย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและหลายๆ ส่วน ซึ่งต้องไปดูในรายละเอียด

 
 
 
ขณะที่ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยผลสำรวจหนี้ครัวเรือนในปี 2557 พบว่า เพิ่มขึ้นถึง 16.1% สูงสุดในรอบ 9 ปี โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 2.19 แสนบาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีหนี้สินเฉลี่ย 1.88 แสนบาทต่อครัวเรือน ที่สำคัญพบว่าเป็นหนี้นอกระบบถึง 49% และหนี้ในระบบ 51% ซึ่งหนี้นอกระบบมักจะเกิดในช่วงสินค้าเกษตรมีราคาตกต่ำ

โดยกลุ่มที่ค่อนข้างเสี่ยงในการก่อหนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท หรือมีระดับรายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยกลุ่มอาชีพที่หันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ได้แก่ กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีเกษตรกรรวมอยู่อยู่ด้วย กลุ่มอาชีพอิสระ และกลุ่มอาชีพแรงงาน ซึ่งปัญหาทั้งหมดทั้งมวล มีต้นตอมาจากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัวของครัวเรือน ประกอบกับรายได้ที่ได้น้อยลงจากการประกอบอาชีพ ทำให้เงินกู้นอกระบบเฟื่องฟูมากขึ้น
 

 
 
ด้าน นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอวิธีแก้หนี้นอกระบบ เช่น 1.ทำหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้อยู่ในระบบที่ดีขึ้น และ 2. ทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น คือ มีงานทำ มีรายได้ที่ดี จนไม่ต้องการก่อหนี้เพิ่ม
ถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างแท้จริง และนอกจากการส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสทางเศรษฐกิจและมีรายได้ที่เพียงพอแล้ว ภาครัฐควรเพิ่มบทบาทส่งเสริมความรู้ด้านการเงินให้ประชาชนบริหารการเงินด้วยตัวเอง ทั้งการบริหารรายได้ การกู้ยืมเงินโดยมีโครงการรองรับ
 

LastUpdate 20/10/2557 23:22:52 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:05 am