แบงก์-นอนแบงก์
"กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์" รับมือ AEC




ยิ่งเข้าใกล้การเปิดประชาคมอาเซียนหรือ AEC ในปีหน้า(2558) ก็ยิ่งทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัว เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของสถาบันการเงินไทย ก็เริ่มมีให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น 

 
โดยเริ่มจากธนาคารกสิกรไทย ที่จับมือ 35 ธนาคารพันธมิตรจาก 9 ประเทศ ประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration: ASEAN+3 Banking Initiative) เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมข้ามแดน โดยร่วมมือทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งการพัฒนาบุคคลากรทางการเงิน ผ่านโครงการ Taksila ASEAN Banking Forum ร่วมพัฒนาหลักสูตร บุคลากร แลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ ต่อยอดสู่ความร่วมมือทางธุรกรรมการเงิน หวังยกระดับการให้บริการธนาคารสู่มาตรฐานสากลรับเออีซี
 
 
 
 
 
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวยอมรับว่า การรวมตัวกันภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ที่กำลังจะเกิดขึ้น ปลายปี 2558 นี้ ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวทางด้านเงินทุน สินค้าและบริการ เป็นไปอย่างคล่องตัว ซึ่งช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน+3 ปริมาณการค้าและการลงทุนก็จะสูงขึ้นด้วย  ธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคจึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพื่อส่งมอบบริการข้ามพรมแดนด้านการเป็นที่ปรึกษา ด้วยข้อมูลเชิงลึก และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธนาคารผ่านช่องทางบริการที่มีประสิทธิภาพ

ธนาคารกสิกรไทย จึงได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรในภูมิภาครวม 35 แห่ง จาก 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจด้านการธนาคารระหว่างกัน เป็นการยกระดับการให้บริการของธนาคารให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับสากลเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านความร่วมมือ "พันธมิตรธนาคารในอาเซียน+3“ (ASEAN+3 Banking Alliance) บนพื้นฐานแห่งปฏิญญากรุงเทพฯ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านธนาคาร (Banking Experience) และเป็นพื้นที่ระดมความคิดอันจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ
เพื่อยกระดับการให้บริการสู่สากล อีกทั้งยังขยายขอบเขตพื้นที่การให้บริการออกไปกว้างยิ่งขึ้น โดยเป็นความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรท้องถิ่นต่างประเทศในการออกผลิตภัณฑ์และบริการให้แก่ลูกค้าในประเทศนั้นๆ

 
 
ขณะที่ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ก็มีการประกาศปรับโครงสร้างธนาคารใหม่ โดย นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ยอมรับเช่นกันว่า ปัจจุบันความต้องการของลูกค้าซับซ้อนมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจมีความผันแปร วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีก้าวหน้าในอัตราสูง ตลอดจนระเบียบกฏเกณฑ์และข้อบังคับต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่เข้มงวดขึ้น 

ฉะนั้นเพื่อให้ธนาคารสามารถรับมือกับความท้าทายที่กล่าวมา และสามารถเปลี่ยนความท้าทายเหล่านี้ให้เป็นโอกาส คณะกรรมการธนาคารจึงเห็นความสำคัญในการทำงานร่วมกันเป็นทีมในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับผู้บริหารสูงสุดของธนาคาร จึงได้มีมติตั้ง นายอาทิตย์ นันทวิทยา ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และนายญนน์ โภคทรัพย์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (President) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2558 เป็นต้นไป
 

LastUpdate 04/11/2557 06:22:38 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:19 am