แบงก์-นอนแบงก์
"กสิกร" เปิดแผนบุก"ขยายธุรกิจต่างประเทศ" เพิ่มบุคคลากรต่างชาติรับศึกใหญ่


"กสิกร"เตรียมเพิ่มบุคคลากรต่างชาติ รองรับขยายธุรกิจต่างประเทศ  พร้อมปรับกลยุทธ์ภายในสร้างความผูกพันรักษาพนักงาน ล่าสุดรับรางวัลสุดยอดองค์กรในการสร้างและพัฒนาผู้นำยอดเยี่ยมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2 ปีซ้อน


 
 
นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า  การบริหารบุคคลากรในปีหน้าของธนาคารกสิกรไทยจะมุ่งเน้นในเรื่องการบริหารบุคคลากร ภายใต้กลยุทธ์ของธนาคารที่จะเติบโตระดับภูมิภาค ส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรบุคคลต้องสอดรับไปกับเป้าหมายทางธุรกิจของธนาคาร โดยในปีหน้าบุคคลากรที่จะเพิ่มเติมอาจจะมีบุคคลากรต่างชาติเพิ่มขึ้น เช่นใน กัมพูชาที่ธนาคารจะเข้าไปทำธุรกิจในปีหน้า ขณะที่ประเทศจีนที่จะยกฐานะเป็นธนาคารท้องถิ่นก็อาจจะต้องเพิ่มจำนวนเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันบุคคลากรต่างชาติของธุรกิจในประเทศจีนมีราว 400 คน โดยเป็นชาวจีน 200 คน ซึ่งในปีหน้าก็อาจจะเพิ่มขึ้น โดยความท้าทายของการสรรหาบุคคลากรต่างชาติ คือ ต้องสร้างความน่าสนใจให้กับคนท้องถิ่นที่ธนาคารจะทำธุรกิจ เพื่อจูงใจให้มาร่วมงานกับธนาคาร

ส่วนการจัดการบุคคลากรในประเทศไทยนั้น ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันเรื่องบุคคลากรในอุตสาหกรรมธนาคารมีความเข้มข้นมาก โดยเฉพาะพนักงานสาขาและพนักงานดูแลลูกค้า แต่ปัจจุบันเริ่มซาลงแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งอัตราการหมุนเวียนของบุคคลากร (turnover) ในปี 2557 อยู่ที่ราว 10 % ต้นๆ ลดลงจากช่วง 2 -3 ปีก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลากรที่อยู่ในช่วงอายุ GEN Y ที่เป็นสัดส่วนพนักงาน 50 % ของพนักงานธนาคารทั้งหมดที่มีกว่า 2 หมื่นคน มีอัตราการหมุนเวียนของบุคคลากรกว่า 10% นับว่าสูงสุด ขณะที่บุคคลากรในระดับผู้นำมีการหมุนเวียนกว่า 5 %

ปัจจุบันอัตราการหมุนเวียนของบุคคลากรธนาคารเริ่มดีขึ้น โดยสาเหตุที่ทำให้การหมุนเวียนของบุคคลากรลดลง มาจากการปรับกลยุทธ์ของธนาคารที่เปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในมุมมองต่างๆ ผ่านการสำรวจความผูกพันของพนักงาน (Employee Engagement Survey) โดยธนาคารได้นำความเห็นและข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาพัฒนาปรับปรุงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารมีคะแนนความผูกพันของพนักงานเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอทุกปี  โดยเฉพาะในปี 2557 นี้ ธนาคารมีผลคะแนนอยู่ในระดับ High Performance Range ซึ่งเป็นค่าคะแนนขององค์กรที่มีระดับความผูกพันสูงมาก และคะแนนที่ธนาคารได้รับในปีนี้ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธุรกิจการเงินการธนาคารทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งช่วยสร้างความผูกพันกับพนักงานให้มีความรักในองค์กรมากขึ้น และในปีหน้าธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะลดสัดส่วนการหมุนเวียนบุคคลากรลงให้เหลือเพียง 10 % ขณะที่การเพิ่มจำนวนบุคคลากรอาจจะน้อยลงกว่าปีนี้ที่เพิ่มกว่า 5 พันอัตราตามการเปิดสาขาที่เพิ่มขึ้น โดยในปีนี้ธนาคารมีบุคคลากรราว 2.1 หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มี 1.9 หมื่นคน

นายกฤษณ์กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6 องค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดองค์กรในการสร้างและพัฒนาผู้นำยอดเยี่ยมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2557 นับว่าเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของธนาคารกสิกรไทยที่มีนโยบายและแผนการพัฒนาความเป็นผู้นำในองค์กรที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าผู้นำมีความสำคัญต่อความก้าวหน้าและความสำเร็จอย่างยั่งยืนของธนาคาร
 
ทั้งนี้ธนาคารมีการทบทวนและกำหนดคุณสมบัติของผู้นำ ให้สอดคล้องกับทิศทางกลยุทธ์ของธุรกิจ และความสามารถหลักขององค์กร รวมทั้งเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอยู่เสมอ และเมื่อได้ต้นแบบของผู้นำที่ต้องการแล้ว ธนาคารจะใช้ทักษะความสามารถ (Competency) เหล่านี้ เป็นแนวทางในการคัดเลือกและพัฒนาผู้นำของธนาคาร

โดยธนาคารได้กำหนดแผนการพัฒนาผู้นำของแต่ละบุคคล (Leadership Development Roadmap) ไว้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมถึงธนาคารยังได้กำหนดให้การพัฒนาพนักงานและภาวะผู้นำเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีวัดผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารอีกด้วย ซึ่งธนาคารได้สื่อสารอย่างต่อเนื่องและสร้างพฤติกรรมนี้ให้เป็นดีเอ็นเอ (DNA) ของผู้นำของธนาคารที่ใส่ใจดูแลและเห็นคุณค่าของพนักงาน ผ่านกรอบแนวคิดของคำว่า “ให้” ประกอบไปด้วย “ให้ใจ ให้เกียรติ ให้รู้ และ ให้โต”        

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีการวางแผนและดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างฐานกำลังคนที่จะเป็นผู้นำในอนาคต (Talent Pool) ให้มีศักยภาพและจำนวนเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งธนาคารเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างผู้นำขององค์กรตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การมอบทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโททั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 จนกระทั่งปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 48 ปี ซึ่งในปัจจุบันนักเรียนทุนธนาคารกสิกรไทย ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีคุณภาพ ทั้งที่เติบโตภายในธนาคารกสิกรไทย คิดเป็น 15% ของจำนวนผู้บริหารทั้งหมดของธนาคาร และเติบโตเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมีชื่อเสียงในธุรกิจและแวดวงการเงินการธนาคารของประเทศ
 
ในขณะที่กระบวนการสร้างผู้นำ ธนาคารจะคัดเลือกผู้ที่มีผลงานดีมากอย่างต่อเนื่อง มีศักยภาพสูง และมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมหลักของธนาคารเข้าสู่กระบวนการพัฒนา มีการจัดรูปแบบการพัฒนาที่ชัดเจนผ่านช่องทางการเรียนรู้หลายวิธี มีการมอบหมายงานที่เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญ ๆ ให้ดำเนินการ และวางแผนการสอนงานอย่างเป็นระบบโดยหัวหน้างานและผู้บริหารในสายงาน ซึ่งผลสำเร็จของการสร้างและพัฒนาผู้นำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องนี้ ส่งผลให้ธนาคารมีผู้บริหารที่พัฒนาและเติบโตมาจากกลุ่มพนักงานศักยภาพสูงมากกว่า 70% ของจำนวนอัตราว่างในตำแหน่งผู้บริหารในแต่ละปี

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ธ.ค. 2557 เวลา : 00:30:30
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 10:46 am