อสังหาริมทรัพย์
"วสท."ออกโรง เสนอแก้ทุจริต "ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูง"


"วสท."แนะทางแก้ทุจริตใบอนุญาติก่อสร้างอาคารสูง เผยควรยึดหลักคุณภาพ ถูกต้อง โปร่งใส ใช้บรรทัดฐานเดียวกัน ลดความเหลื่อมล้ำ เตือนสถาปนิก วิศวกร เคร่งครัดในจริยธรรม วอนผู้ประกอบการฟังเสียงชุมชนรอบข้างก่อนก่อสร้าง 

 
 
 
 
หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น สั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ดำเนินการรื้อถอนหรือแก้ไขอาคาร “โรงแรมดิเอทัส” ซอยร่วมฤดี ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำตัดสิน เนื่องจากโครงการดิเอทัส มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาทนั้น สร้างสูงเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด ขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่มีเขตความกว้างติดถนนสาธารณะไม่ถึง 10 เมตร

ภายในโครงการประกอบด้วยโรงแรมดิเอทัส บางกอก สูง 24 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 28,000 ตารางเมตร และเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ดิ เอทัส เรสซิเดนซ์ สูง 18 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 29,000 ตารางเมตร

 
 
 
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า กรณีโครงการดิเอทัส สะท้อนให้เห็นว่า 1.การให้ใบอนุญาตก่อสร้าง ควรยึดหลักคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความถูกต้องโปร่งใส เพื่อให้สิ่งปลูกสร้างและการพัฒนาเมืองอำนวยประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและเศรษฐกิจ 2.การบังคับใช้กฏหมายต้องมีบรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและลักษณะมือใครยาว สาวได้สาวเอา ดังปรากฏว่า ก่อนหน้านี้มีหลายอาคารที่สร้างสูงกว่ากฏหมายกำหนด ก็ต้องรื้อถอนและปรับความสูงให้ถูกต้องตามกฏหมายหลายแห่ง 

ส่วนกรณี ดิเอทัส หน่วยงานเขตปทุมวัน แจ้งขนาดความกว้างของซอยต่างกัน แก่ 2 บริษัท โดยแจ้งกับบริษัท แสนสิริ ว่าซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร ตามผลการสำรวจ ปี 2527 โดยเขตปทุมวัน กทม.ตามคำสั่งคณะปฏิวัติ แต่ต่อมาช่วงต้นปี 2548 บริษัทลาภประทาน กับบริษัททับทิมทร ได้ยื่นเรื่องเข้ามาสอบถาม ทางเขตปทุมวันตอบเป็นเอกสารรับรองความกว้าง 10 เมตร ทำให้เกิดเอกสาร 10 เมตรตลอดแนว ขึ้นมาใหม่

3.ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ถูกต้อง จะเป็นภาระของเมืองและสังคมส่วนรวม ในด้านความแออัดคับคั่งของการจราจร ความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน กรณีเกิดเพลิงใหม้ เช่น โรงแรมอิมพีเรียลที่ตั้งอยู่ในซอยนี้แล้วเกิดไฟไหม้มีคนตายเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน เพราะต้องใช้รถดับเพลิงคันใหญ่ แต่เนื่องจากซอยแคบ ทำให้รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปได้

4.การทำหน้าที่พลเมืองไทยและพลังชุมชนที่เข้มแข็ง ผู้อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดี จำนวน 24 ราย ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ข้อหาบริหารราชการท้องถิ่น และเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารปี 2522 ต่อศาลปกครองกลาง โดยออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้ก่อสร้างอาคารสูงกว่ากฏหมายกำหนด เป็นตัวอย่างของการเป็นหูเป็นตา ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหา หรือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แม้จะต้องใช้เวลายาวนานถึง 6 ปี 

5.จริยธรรมในวิชาชีพ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ทำงานในทุกบทบาทต้องยึดมั่น ทั้งหน่วยงานผู้ดูแลกฏระเบียบและตรวจสอบ บริษัทเจ้าของโครงการ สถาปนิกผู้ออกแบบ วิศวกรควบคุมการก่อสร้าง และ 6.โครงการอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง ควรรับฟังข้อคิดเห็นรอบด้านก่อนการลงทุน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายและปัญหาต้องรื้อถอนอาคารกันในภายหลัง

@ สั่งรื้อตามกฏกระทรวง

 
 
 
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ระบุว่า ซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรตลอดแนวไปจนจดถนนสาธารณะ จะไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่สูงเกิน 8 ชั้น หรือเกินกว่า 23 เมตรได้ สภาพปัจจุบันของซอยร่วมฤดี เป็นถนน 2 เลนวิ่งสวนทางกัน ช่วงต้นซอยฝั่งสุขุมวิทมีตึกที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น 2 อาคาร คือ โรงแรมโนโวเทลและคอนโดฯ ดิแอทธินี เรสซิเดนซ์ แม้ก่อสร้างอยู่ในซอยร่วมฤดี แต่เนื่องจากแปลงที่ดินด้านหนึ่งที่ใช้เป็นทางเข้า-ออกอยู่ติดถนนสาธารณะที่มีความกว้างเกิน 10 เมตร ถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เมื่อรังวัดที่ดินโดยกรมที่ดิน ซึ่งนำโฉนด 2 ข้างทางมาปูทั้งหมด 54 โฉนด พอวัดออกมาแล้ว กรมที่ดินได้ระบุว่า ในซอยร่วมฤดี ซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์และเป็นสถานที่ตั้งอาคารดิเอทัส มีจุดที่ไม่ถึง 10 เมตรอย่างน้อย 8 จุดด้วยกัน โดยผลจากการรังวัดได้ตัวเลขออกมาคือ 9.146 เมตร 9.207 เมตร 9.949 เมตร 9.434. เมตร 9.492 เมตร 9.150 เมตร 9.658 เมตร และ 9.283 เมตร

"อาคารนี้จึงเป็นการขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ และได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร 40, 41, 42 และ 43 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง โดยกรุงเทพมหานครต้องดำเนินการให้เจ้าของอาคาร ปรับปรุงอาคาร หรือแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย"

สำหรับขั้นตอนจากนี้ ทาง กทม. และสำนักงานเขตปทุมวัน จะต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่จะสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 60 วัน หากไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่ง สำนักงานเขตฯ มีอำนาจขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลซึ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งได้ และดำเนินการหรือจัดให้มีการรื้อถอนอาคารดังกล่าวได้เอง โดยที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้รับผิดชอบงานออกแบบอาคาร ผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณอาคาร ผู้ควบคุมและผู้ดำเนินการ จะต้องร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด

@ คาดใช้เวลารื้อตึกนาน 2 ปี

 
 
ขณะที่ รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าว ว่า การรื้อถอนอาคาร ดิเอทัส เป็นเรื่องของ กทม.และเขต ต้องออกคำสั่งให้หยุดการใช้อาคาร และแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีความเป็นไปได้ที่กรณีรื้อถอนอาคารโรงแรมดิเอทัสจะยืดเยื้อ เช่น ข้อตกลงว่าระหว่าง กทม.ซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตก่อสร้างและเจ้าของโรงแรมดิเอทัสที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง ใครจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิศวกรรมสามารถรื้อถอนอาคารด้านบนบางส่วน โดยไม่ทำให้อาคารด้านล่างเสียหาย แต่จะต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญและจะต้องปิดใช้อาคาร กรณีเป็นอาคารสูง 20 ชั้น หากรื้อถอนอาคารเหลือ 8 ชั้นจะใช้เวลารื้อถอนเฉลี่ยชั้นละ 2 เดือน รวมประมาณ 2 ปี เพราะจะต้องเริ่มรื้อจากส่วนที่กระทบโครงสร้างน้อยที่สุดก่อน เช่น ผนัง พื้น ฯลฯ ส่วนเสาอาคารที่เป็นโครงสร้างจะเป็นส่วนท้าย
 

บันทึกโดย : วันที่ : 16 ธ.ค. 2557 เวลา : 01:53:43
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:25 am