เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
มติคณะกรรมการ PPP เห็นชอบกฎหมายลำดับรอง ๕ ฉบับ


รายงานข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ครั้งที่  ๑/๒๕๕๘ วันพฤหัสบดีที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ชั้น ๓ ตึกแดง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือคณะกรรมการ PPP ในคราวประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๘  โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธานการประชุม  ได้มีมติเห็นชอบกฎหมายลำดับรอง ๕ ฉบับ ได้แก่ ๑) หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณมูลค่าโครงการ 
เพื่อให้เกิดความชัดเจนของการคำนวณมูลค่าโครงการที่มีปัญหามากว่า ๒๐ ปี  โดยจะรวมมูลค่าเงินลงทุนที่ทำให้โครงการเกิดขึ้น  และหากมีการใช้ทรัพย์สินของรัฐจะรวมมูลค่าทรัพย์สินของรัฐด้วย

๒) กระบวนการประกาศเชิญชวนและการคัดเลือกเอกชน จะคงหลักการเดิมของกฎระเบียบเดิมที่มีอยู่  แต่มีการปรับให้มีความชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น ๓) ข้อกำหนดมาตรฐานสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เกิดมาตรฐานของสัญญาร่วมลงทุน ทำให้ไม่เกิด
ความลักลั่นระหว่างโครงการ  ซึ่งที่ผ่านมาลักษณะของสัญญาร่วมลงทุนจะมีความหลากหลาย ซึ่งยากต่อการกำกับดูแลและมีปัญหาในทางปฏิบัติจำนวนมาก

๔) ลักษณะการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่เป็นสาระสำคัญ เพื่อให้เกิดมาตรฐานว่า การแก้ไขสัญญาลักษณะใดเป็นเรื่องนโยบายจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ทำให้ลดปัญหาในการกำกับดูแลสัญญาร่วมลงทุน และเพิ่มความโปร่งใสในการแก้ไขสัญญา ๕) หลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในสำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท

โดยมอบอำนาจให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท สามารถดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โครงการขนาดเล็กจะยังคงต้องยึดหลักการของประโยชน์ของรัฐและประชาชน รวมทั้งการคัดเลือกเอกชนจะต้องมีความโปร่งใส ซึ่งจะทำให้กฎหมายลำดับรองที่สำคัญสำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุน (Public Private Partnership: PPP) ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ. PPP) มีความครบถ้วนและพร้อมที่จะสนับสนุนการให้ทำ PPP ของประเทศที่ติดขัดมามากกว่า ๑ ปี


บันทึกโดย : วันที่ : 08 ม.ค. 2558 เวลา : 21:18:57
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:45 pm