เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ฟันธงสินเชื่อแบงก์ปี 58 เติบโตได้ 7-8 % แต่ต้องจับตากฎหมายค้ำประกันกระทบปล่อยกู้


"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ชี้สินเชื่อแบงก์ปี 58 เริ่มกระเตื้อง เติบโตได้ 7 -8 % แต่ยังซึมต่อเนื่องในรอบ 5 ปี คาดสินเชื่อธุรกิจเริ่มฟื้น จับตากฎหมายค้ำประกันกระทบปล่อยกู้

 

 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมุมมองต่อแนวโน้มสินเชื่อในปี 2558 ของธนาคารพาณิชย์ในไทย ว่า จะมีการเติบโตเร่งขึ้นจากประมาณ 4.0% ในปี 2557 มาอยู่ในกรอบประมาณ 7.0-8.0% ภายใต้สมมติฐานหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจในกรอบ 3.5-4.5% โดยปัจจัยติดตามหลัก ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และท่าทีของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงกฎหมายค้ำประกันฯ ก่อนกำหนดการบังคับใช้จริงในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่อาจกระทบต่อแนวโน้มสินเชื่อในระยะที่เหลือของปี ให้มีโอกาสสดใสน้อยกว่าคาดได้

ทั้งนี้ การเติบโตทางสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในอัตราดังกล่าว ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2553-2557) อัตราการขยายตัวของสินเชื่อมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 11%  นอกจากนี้ ความระมัดระวังของอัตราการเติบโตสินเชื่อ ยังสะท้อนผ่านมุมมองของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่ส่งสัญญาณว่าจะเน้นการปล่อยสินเชื่อควบคู่กับคุณภาพ เพื่อไม่ให้นำมาสู่ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นในภายหลัง ท่ามกลางความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และหลายปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจย้อนกลับมากระทบต่อเสถียรภาพด้านรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าสินเชื่อได้ในอนาคต

โดยแรงขับเคลื่อนภาพรวมสินเชื่อในปี 2558 จะหันกลับมาพึ่งสินเชื่อธุรกิจมากขึ้น ตามอานิสงส์จากการฟื้นตัวของกิจกรรมการลงทุนและใช้จ่ายในประเทศ ที่ได้รับแรงกระตุ้นจากภาครัฐ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อความต้องการสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจหลายประเภท เช่น ก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง รวมถึงค้าปลีก เป็นต้น ตลอดจนสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ที่น่าจะฟื้นขึ้นเช่นกัน ตามแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออก ขณะที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งต่างก็หันมาให้น้ำหนักกับการเติบโตสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีมากขึ้นด้วย

สำหรับประเภทสินเชื่อภาคครัวเรือนที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในปี 2558 ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงสินเชื่อเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ที่ได้รับแรงหนุนจากฐานที่ต่ำและการกลับมาทำตลาดของผู้ประกอบการสินเชื่อบางส่วน ภายใต้มุมมองเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านรายได้ของภาคครัวเรือนที่ฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ น่าจะยังคงความระมัดระวัง อาทิ ในมิติของการรักษาระดับเข้มงวดของเกณฑ์การพิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้ หรือเกณฑ์เงินดาวน์ขั้นต่ำ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายเชิงคุณภาพที่วัดจากระดับเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ได้กำหนดไว้

 
 
 
อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อในภาพรวม มีโอกาสต่ำกว่าคาดที่ 7.0-8.0% หากปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีมากขึ้นจนทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่ากรอบประมาณการปัจจุบัน โดยปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความก้าวหน้าในการเบิกจ่ายงบประมาณและโครงการลงทุนของภาครัฐ สถานการณ์การเมือง ความเสี่ยงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ตลอดจนทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์    
 
สำหรับประเด็นด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั้น พบว่า ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีอิทธิพลต่อความต้องการสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนในประเทศของภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนถึงราวครึ่งหนึ่งของสินเชื่อธุรกิจทั้งหมด หรือ 1 ใน 3 ของสินเชื่อรวม (รวมสินเชื่อธุรกิจและครัวเรือน)

ทั้งนี้ผลของกฎหมายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ว่าด้วยค้ำประกันและจำนอง ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 อาจกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อบางประเภทที่เคยอ้างอิงเกณฑ์การค้ำประกันในการอนุมัติสินเชื่อ เช่น สินเชื่อผู้ประกอบการบางกลุ่ม และสินเชื่อเช่าซื้อ ตลอดจนสินเชื่ออเนกประสงค์ที่เคยใช้อสังหาริมทรัพย์/สินทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น แต่หากความพยายามของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเลื่อนกำหนดการบังคับใช้ออกไป และปรับปรุงรายละเอียดของกฎหมายเพื่อให้เอื้อประโยชน์กับสถาบันการเงินและลูกค้าในทางปฏิบัติมากขึ้นประสบผลสำเร็จ ก็อาจช่วยลดทอนผลกระทบต่อกฎหมายดังกล่าวต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมได้

 
 

LastUpdate 14/01/2558 20:31:20 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:45 pm