แบงก์-นอนแบงก์
ซีไอเอ็มบีไทย แจ้ง ปี 57 กำไรสุทธิ 988.8 ล้านบาท


นายสุภัค  ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 มีกำไรก่อนภาษีเงินได้จำนวน 1,236.0 ล้านบาท และกำไรสุทธิจำนวน 988.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.2 และร้อยละ 33.6 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 สาเหตุหลักเกิดจากในปี 2556 ธนาคารมีรายการพิเศษที่สำคัญ คือ ส่วนแบ่งกำไรจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบสท. กำไรจากการชำระบัญชีของบริษัทย่อยแห่งหนึ่งของธนาคาร กำไรจากการไถ่ถอนกองทุนรวมวายุภักษ์1 เงินปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 และสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เกิดจากการตั้งสำรองพิเศษเพื่อเตรียมรองรับผลกระทบจากวัฏจักรธุรกิจ หากหักรายการพิเศษดังกล่าวแล้ว กำไรก่อนภาษีเงินได้ของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้นจำนวน 237.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.5 ในขณะที่กำไรสุทธิจะลดลงจำนวน 92.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 เป็นผลจากการปรับค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ในปี 2557 ที่สืบเนื่องมาจากการใช้ประโยชน์ของผลขาดทุนทางภาษีจากปี 2556

 
 
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 และ 2556 รายได้จากการดำเนินงานปี 2557 ของกลุ่มธนาคารมีจำนวน 10,506.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 260.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5     (แต่หากหักรายการพิเศษแล้วรายได้จากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นจำนวน 1,783.9 ล้านบาทหรือร้อยละ 20.7) การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ กำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ในขณะที่กำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,364.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.9 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและการไถ่ถอนตราสารหนี้ด้อยสิทธิก่อนกำหนด  รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 80.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมบริการที่ปรึกษา ค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายประกัน ในส่วนของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นจำนวน 1,090.6 ล้านบาท      หรือร้อยละ 152.7 ส่วนใหญ่เกิดจากธุรกรรมการบริหารเงิน ในขณะที่กำไรสุทธิจากเงินลงทุนลดลงจำนวน 91.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.8 และรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลงจำนวน 89.6 ล้านบาท และร้อยละ 27.4 เนื่องจากรายการพิเศษในปี 2556         
        
 
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปี 2557 เพิ่มขึ้นจำนวน 1,045.5 ล้านบาทหรือร้อยละ 17.2 เป็นจำนวน 7,140.6 ล้านบาทจากปี 2556 โดยส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าภาษีอากร และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์และระบบเครือข่ายของธนาคาร  อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 68.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 59.5 ซึ่งเกิดจากรายการพิเศษปี 2556 แต่หากหักรายการพิเศษแล้ว อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานของปี 2556 จะอยู่ที่ร้อยละ 72.8 
 
       
ในสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดทั้งด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อ กลุ่มธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย สามารถดำรงอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.37 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.19 เมื่อเทียบกับปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.18 โดยธนาคารสามารถควบคุมต้นทุนเงินฝากที่ดีขึ้น 
       
วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 190.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 211.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 จากสิ้นปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 190.6 พันล้านบาท ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อ เงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 90.1 จากร้อยละ 90.3 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 
 
       
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 6.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เป็นผลจากการชะงักตัวของภาวะเศรษฐกิจที่มีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าภาคธุรกิจบางรายและลูกค้ารายย่อย อย่างไรก็ตาม ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแล และการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด 
 
       
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 95.2 ลดลงจากสิ้นปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 107.8 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 6.0 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2.2 พันล้านบาท 
 
       
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2557 มีจำนวน 31.8 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 15.2 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 10.1 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ม.ค. 2558 เวลา : 10:59:30
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:27 pm