เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ส่งออก" เล็งหารือ "ธปท." ดูแล "ค่าเงินบาท"สอดคล้องคู่แข่ง


ความผันผวนของค่าเงินที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

 

 

ซึ่ง นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ก็ออกมายอมรับว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้ โดยภาพรวมดีขึ้นกว่าปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณการฟื้นตัว โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 3-4% แต่มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 3 ประการที่ต้องเผชิญ ประกอบด้วย อัตราแลกเปลี่ยน, การถูกตัดสิทธิ GSP และ ทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาก 


 
 
โดยกรณีอัตราแลกเปลี่ยนนั้น พบว่า สิ้นปี 2557 ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงเล็กน้อยเพียง 0.49% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2556 หรือแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ค่าเงินของประเทศอื่นๆ อ่อนค่าลงมากกว่า เช่น ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย อ่อนค่าลง 6.28% ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ อ่อนค่าลง 4.41% ค่าเงินวอนเกาหลีใต้ อ่อนค่าลง 4.23% และค่าเงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่าลง 11.86% ขณะที่ค่าเงินยูโร อ่อนค่าลงถึง 13.07% และยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ยกเลิกกำหนดค่าเงินฟรังก์ต่อยูโร ซึ่งส่งผลให้เงินฟรังก์แข็งค่าขึ้นได้อย่างเสรี
 
รวมทั้งค่าเงินรูเบิลของรัสเซียยังเคลื่อนไหวผันผวนมาก จากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดลง และวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้เงินรูเบิลอ่อนค่าไปถึง 43.33% ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เดินทางมาไทยที่มากเป็นอันดับ 3 รองจากนักท่องเที่ยวจีน และมาเลเซีย โดยนักท่องเที่ยวรัสเซียมีส่วนสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวไทยถึง 10%

 
 
ค่าเงิน/ประเทศ                ทิศทางการอ่อนค่า
 
เงินบาท                              อ่อนค่า 0.49%
เงินริงกิตมาเลเซีย              อ่อนค่า 6.28%
ดอลลาร์สิงคโปร์                อ่อนค่า 4.41%
เงินวอนเกาหลีใต้               อ่อนค่า 4.23% 
เงินเยนญี่ปุ่น                       อ่อนค่า 11.86% 
เงินยูโร                               อ่อนค่า 13.07%
เงินรูเบิลรัสเซีย                   อ่อนค่า 43.33%

 
 
 
ส่วนกรณีที่ไทยถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) นั้น ในเบื้องต้นมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบต่อการส่งออกเป็นมูลค่าประมาณ 6,700 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กุ้งปรุงแต่ง, ยานยนต์ขนส่ง, ยางรถยนต์, เลนส์แว่นตา และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งรัฐบาลควรเร่งผลักดันการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น 
 
 
 
 
สำหรับ สถานการณ์ราคาน้ำมัน แม้ราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลดีต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า และลดต้นทุนการผลิตลงได้ในระดับหนึ่ง และทำให้ผู้บริโภคมีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ก็ทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีกำลังซื้อลดลง ดังนั้นผู้ประกอบการของไทยควรเร่งมองหาตลาดใหม่ เพื่อทดแทนตลาดปัจจุบันที่มีกำลังซื้อลดลง โดยเน้นกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ราคาน้ำมันลดลง เช่น ประเทศที่นำเข้าน้ำมัน 
 

 
 
สถานการณ์ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประธานกรรมการหอการค้าไทยจะนำคณะไปพบกับ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอให้ช่วยบริหารจัดการในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องกับประเทศคู่แข่งขัน รวมถึงให้เงินบาทมีการเคลื่อนไหวที่มีเสถียรภาพและไม่ผันผวน 
 
 
 
 
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น ในส่วนของรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และกรรมการ คสช. กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในสหภาพยุโรป (EU) กำลังจะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ซึ่งอาจจะทำให้เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยในขณะนี้แข็งค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างๆ เช่นเงินยูโร และเงินเยน ซึ่งอาจจะกระทบกับการส่งออกได้ รัฐบาลจึงควรหามาตรการมาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ

 

บันทึกโดย : วันที่ : 21 ม.ค. 2558 เวลา : 23:14:01
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 11:41 pm