แบงก์-นอนแบงก์
"กสิกรไทย"โดดอุ้ม"เอสเอ็มอี" ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจฝืดเคืองหนี้สูง ชู 3 กลยุทธ์ช่วยผู้ประกอบการ


"กสิกรไทย"ปรับกลยุทธ์ธุรกิจเอสเอ็มอี 3 ด้าน พร้อมช่วยลูกค้าฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจฝืดเคือง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รักษาพนักงาน ตั้งเป้าสินเชื่อโต 7.7 %


 

       
 
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของสายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการหรือเอสเอ็มอี มีการขยายตัวที่ดี โดย ณ สิ้นปี 2557 มียอดสินเชื่อรวมที่ 568,000 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อน 9.7% ในจำนวนนี้เป็นยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีจากต่างจังหวัด 360,000 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนถึง 20% 

ด้านยอดรายได้รวมอยู่ที่ 39,600 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 13%  ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.56% ลดลงจากปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 2.82% ซึ่งผลประกอบการโดยรวมทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำหรับ ในปี 2558 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 280,000 ล้านบาท และมียอดสินเชื่อเพิ่มเป็น 612,000 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2557 ที่ 7.7% พร้อมตั้งเป้ารายได้รวมที่ 43,300 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 9% และรักษา NPL ให้ลดลงอยู่ที่ 2.39%

โดยในปี 2558 จะเน้น 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การดูแลผู้ประกอบการภายใต้แนวคิด “K SME ช่วยเต็มที่ SME มีแต่ได้” โดยดูแลลูกค้าปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่กับการขยายฐานลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพ ด้วยบริการที่ครอบคลุมทั้งวงจรธุรกิจและสินเชื่อ การให้ความรู้ รวมถึงช่วยเหลือลูกค้าให้ผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการลดระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจาก 40  วัน เหลือ 30 วัน พร้อมกระตุ้นให้พนักงานได้ใช้เวลาในการเยี่ยมลูกค้าให้มากขึ้น เพื่อจะได้ทราบถึงความต้องการและช่วยแก้ปัญหาของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที

“นอกจากนี้ กลยุทธ์ในการรักษาพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งธนาคารจะสร้างความสุขในการทำงาน เมื่อพนักงานมีความสุข อัตราการลาออกก็จะน้อยลง สอดคล้องกับผลสำรวจความผูกพันของพนักงานที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จากดัชนีความผูกพันในปี 2555 อยู่ที่ 54% ในปี 2556 เพิ่มเป็น 61% และ ในปี 2557 เพิ่มเป็น 64% “นายพัชรกล่าว

นายพัชร กล่าวในตอนท้ายว่า ในปีที่ผ่านเอสเอ็มอีของไทยต้องประสบปัญหาหลายเรื่อง ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้มีมาตรการต่าง ๆ ออกมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพื่อลดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง โครงการรับจำนำข้าว  ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดภาคเรียนล่าช้ากว่าปกติ และเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งธนาคารฯ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น การพักชำระเงินต้น การลดดอกเบี้ยเงินกู้โอดีลง 3% การขยายเวลากู้ รวมทั้งการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ให้กับลูกค้าจำนวน 18,600 ราย มียอดสินเชื่อรวม 67,600 ล้านบาท

และในปีนี้ ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวซบเซา และผลกระทบจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ โดยใช้มาตรการพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 12 เดือน ขยายเวลาผ่อนชำระ และเลือกผ่อนชำระตามรายได้ของกิจการ นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับองค์กรรัฐรวม 7 แห่ง เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

“ส่วนเรื่องของกฏหมายค้ำประกันนั้น มีผลต่อธนาคารแน่นอน โดยเฉพาะการทำงานของธนาคารในเรื่องของการพิจารณาสินเชื่อที่ต้องมีขั้นตอนมากขึ้น ขณะที่แบงก์ก็มีความเสี่ยงมากขี้น เพราะการเรียกใช้หลักประกันมาค้ำเพื่อขอสินเชื่อของเอสเอ็มอีในปัจจุบันเริ่มมีข้อจำกัด  อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูผลหลังจากกฏหมายมีผลบังคับใช้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป”นายพัชรกล่าว
 

LastUpdate 22/01/2558 13:15:03 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 9:58 pm