เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กระตุ้นรัฐ เร่งช่วย"เอสเอ็มอี"เข้าถึงแหล่งทุน


ปีนี้นับเป็นอีกปีที่ท้าทายของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) แม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบทั้งจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจไม่เป็นไปอย่างที่มีการคาดการณ์ 
 
 
 
 
ซึ่ง นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี จากกลุ่มสำรวจ 1,450 ราย ระหว่างวันที่ 5-23 มกราคม 2558 ว่า ดัชนีความ สามารถไตรมาส 4/2557 เพิ่มขึ้น 0.7% จากไตรมาส 3/2557 จาก 49.8 จุด เป็น 50.5 จุด สะท้อนความสามารถธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ระดับปานกลางและแนวโน้มทรงตัว ซึ่งเป็นผลมาจากดัชนีสุขภาพของธุรกิจ ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ และดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจดีขึ้นเล็กน้อย แค่ 0.2 จุด 0.9 จุด และ 1 จุด ตามลำดับ เนื่องจากยังมีปัญหายอดขายตก ต้นทุนเพิ่ม กำไรลดลง ความสามารถเข้าถึงแหล่งทุนต่ำ ทำให้สภาพคล่องทางธุรกิจแย่ลง โดยเฉพาะธุรกิจภาคผลิตและภาคการค้าจะกระทบมากกว่าภาคบริการ โดยธุรกิจที่มีปัญหามากสุด คือ ธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และค้าส่งค้าปลีก
 
 
 
แต่ภาคธุรกิจยังคาดหวังความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจปี 2558 จะปรับตัวดีขึ้น เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอัดฉีดระบบเศรษฐกิจ โดยเห็นว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะฟื้นตัวในไตรมาส 2 ส่วนภาคธุรกิจจะฟื้นตัวในไตรมาส 3 ดังนั้นรัฐบาลควรผลักดันเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจเอสเอ็มอีให้แข่งขันได้มากขึ้น 

ส่วนความผันผวนของค่าเงินบาท นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าหรือแข็งค่าทุก 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ 0.2-0.3% และเห็นว่าระดับเงินบาทที่แข่งขันได้ คือ 33.50-34 บาท เพราะทุกประเทศได้ใช้นโยบายเงินอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและขีดความสามารถในการส่งออก 
 

 
 
สำหรับแนวทางการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในบทบาทของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการของธนาคาร กล่าวว่า ได้ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการนโยบาย และกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. พิจารณาให้เอสเอ็มอีแบงก์เดินหน้าปล่อยสินเชื่อที่ค้างท่อวงเงิน 1,500 ล้านบาท ในโครงการ 9 เมนูคืนความสุขเอสเอ็มอี ซึ่งมีผู้ประกอบการที่ขอสินเชื่อหลายราย อยู่ระหว่างการพิจารณา ก่อนที่ซูเปอร์บอร์ดจะคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เงินทุน ขยายกิจการ และเป็นการช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาล คาดว่าซูเปอร์บอร์ดจะพิจารณาเร็วๆ นี้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ม.ค. 2558 เวลา : 12:11:01
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 2:08 pm