แบงก์-นอนแบงก์
"อิออน"ลุยเจาะฐานลูกค้าคนกรุง จับมือบีทีเอสกรุ๊ป ออกบัตรสมาชิกอิออนแรบบิท


"อิออน"จับมือบีทีเอส ออกบัตรสมาชิกอิออนแรบบิท เจาะฐานลูกค้าคนกรุงเทพ มองเศรษฐกิจไทยปี 58 ดีขึ้น ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายเติบโต 7 -8% ยอมรับสนใจนาโนไฟแนนซ์ แต่ขอดูหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนก่อน


 
 
 
นายยาซูฮิโกะ คอนโดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจของบริษัทในปี 2556/2557 สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นได้ราว 7-8% โดยทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างเติบโตได้ประมาณ10 % ขณะที่คุณภาพหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากบริษัทมีการปรับปรุงกระบวนการติดตามหนี้ให้เร็วขึ้น และช่วงปลายปีที่ผ่านมาลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น สะท้อนจากยอดชำระคืนเมื่อมีการทวงถามเพิ่มขึ้น ทำให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของบริษัทอยู่ที่ 3 - 4 %

ส่วนการเติบโตในปี 2557/2558 เบื้องต้นบริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของยอดขายราว 7–8% หรือยอดขาย 1 แสนล้านบาท และบริษัทได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ บีทีเอส กรุ๊ป บริษัทขนส่งมวลชน โดยเปิดตัว "บัตรสมาชิกอิออนแรบบิท" ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกและเป็นก้าวสำคัญสำหรับอิออน เพราะจะเป็นการช่วยสร้างฐานลูกค้าในกรุงเทพให้กับบริษัท เนื่องจากก่อนหน้านี้ฐานลูกค้าในเขตกรุงเทพของบริษัทลดลง และปัจจุบันอยู่ในระดับ 35% ของฐานลูกค้ารวมที่มี 7 ล้านบัญชี โดยคาดว่าบัตรอิออนแรบบิทจะสามารถช่วยเพิ่มฐานลูกค้าในกรุงเทพให้บริษัทได้

“อิออนตั้งเป้าหมายเพิ่มบัตรอิออนแรบบิท 7 แสนใบใน 5 ปี หรือเดือนละ 1 หมื่นใบ การเพิ่มฐานลูกค้าในกรุงเทพเป็นการทำตลาดใหม่ แต่ไม่ได้ต้องการเพิ่มสัดส่วนให้สูงกว่าตลาดต่างจังหวัด เพราะบริษัทยังมองโอกาสในต่างจังหวัดเป็นหลักอยู่”นายยาซูฮิโกะกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฐานบัตรรวมของบริษัทมีกว่า 7 ล้านใบ แต่มีการใช้จริงอยู่ 3.5 ล้านใบ ซึ่งบริษัทมีฐานลูกค้า 2 กลุ่ม คือ บัตรเครดิตร่วม ROP สำหรับลูกค้าที่มีรายได้ 3 หมื่นบาทต่อเดือน และบัตรอิออนสำหรับลูกค้าที่มีรายได้ขั้นต่ำ 8 พันบาทต่อเดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ บริษัทไม่มีแผนต้องปรับเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติ เนื่องจากระบบคัดกรองของบริษัทสามารถทำได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว โดยอัตราปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทอยู่ที่ 50% และคาดว่าจะลดลง เพราะสถานการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจไทยดีขึ้นบ้างแล้ว

นายยาซูฮิโกะกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องโครงการนาโนไฟแนนซ์ของรัฐบาลนั้น บริษัทยังไม่ยื่นขอเข้าไปเพราะต้องการศึกษากฏเกณฑ์ให้ชัดเจนก่อน เพื่อพิจารณาความคุ้มค่าว่าจะสามารถทำธุรกิจนี้อย่างถาวรภายใต้ผลตอบแทนที่ทางการกำหนดไว้ได้หรือไม่ เพราะยังมีบางรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน แต่ต้องยอมรับว่าบริษัทสนใจในธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ เพราะค่อนข้างถนัดอยู่บ้างแล้ว

 

LastUpdate 03/02/2558 12:46:17 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:04 am