เอสเอ็มอี
หนุน "เอสเอ็มอี" รวมกลุ่มคลัสเตอร์ เจาะอาเซียน


การส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนให้ความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต  

 

นายกอบชัย สังฑ์สิทธิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยถึงแนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีของกรมฯ ว่า ขณะนี้จะเน้นในเรื่องของการให้ผู้ประกอบการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพื่อที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือดูแลได้ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งในกลุ่มคลัสเตอร์ก็ยังมีความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิก เช่น การรวมตัวกันซื้อวัตถุดิบทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง รวมทั้งการเข้าไปรับคำสั่งซื้อขนาดใหญ่แล้วนำมากระจายให้สมาชิกร่วมกันผลิต ทำให้มีศักยภาพในการผลิตสูงขึ้น


โดยที่ผ่านมา ได้มีการตั้งคลัสเตอร์แล้ว 66 กลุ่ม เป็นคลัสเตอร์ที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด 20 กลุ่ม โดยกลุ่มคลัสเตอร์เป้าหมายในปีนี้ จะส่งเสริมในคลัสเตอร์พลังงานทดแทน คลัสเตอร์ปาล์มน้ำมัน เพื่อรองรับการขาดแคลนพลังงานในอนาคต คลัสเตอร์เครื่องมือการแพทย์ รองรับสังคมผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย

 
 
 
นอกจากนี้ กสอ. ได้จัดทำโครงการดิจิตอลเอสเอ็มอี เพื่อให้สอดรับกับนโยบายดิจิตอลอีโคโนมีของรัฐบาล โดยดิจิตอลเอสเอ็มอีนี้จะเข้าไปส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงองค์กรเข้าสู่ระบบดิจิตอล ซึ่งจะอยู่ภายใต้ 5 แผนงาน ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิทัล 2.เอสเอ็มอีอัจฉริยะ  3.ดิจิทัลเพื่อวิสาหกิจชุมชน  4.สังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยดิจิตอล และ5.ที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ โดยโครงการทั้งหมดนี้จะใช้งบ 100 ล้านบาท และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ก.พ. นี้
 
ส่วนความท้าทายในมุมมองของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ยังต้องได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ เพราะตัวเลขจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุจำนวน SMEs ซึ่งมีทุนต่ำกว่า 200 ล้านบาททั้งประเทศประมาณ 3 ล้านราย ที่ขึ้นทะเบียนและเป็นสมาชิกของส.อ.ท.เพียง 3 แสนรายเท่านั้น และในจำนวนนี้มีเพียง 1.8 หมื่นรายที่พัฒนาตนเองให้สามารถแข่งขันได้

ส่วนปัญหาและอุปสรรคของ SMEs ในขณะนี้ยังคงเป็นเรื่อง การขาดเงินทุน โดยเฉพาะกลุ่มไซซ์ขนาดเล็ก ที่หวังพึ่งการเงินกู้จากทางธนาคาร แต่ปัจจุบันธนาคารต่างก็มีมาตรการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น ส.อ.ท.จึงจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและเสนอให้รัฐเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกัน SMEs ขนาดเล็กที่จะกู้แบงก์ โดยไม่เกิดหนี้เสีย ซึ่งจะทำให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น

LastUpdate 06/02/2558 11:40:45 โดย : Admin
02-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 2, 2024, 10:03 am