เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ยัน "เศรษฐกิจไทย" ยังไม่เกิด "เงินฝืด" หลังเงินเฟ้อ ม.ค.ติดลบ


ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดของไทย เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้น หลังกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนม.ค.58 ติดลบ 0.41% แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง ต่างยืนยันว่า "เศรษฐกิจไทยยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด" 


 
 
 
โดย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนารคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงอัตราเงินเฟ้อขยายตัวในอัตราที่ต่ำ (Low Inflation) เท่านั้น เนื่องจากการจ้างงานยังไม่ได้มีการปรับลดลง ราคาสินค้าต่างๆ ก็ยังไม่ลดลงมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวธนาคารแห่งประเทศไทยจะติดตามอย่างใกล้ชิด
 

 
 
ด้าน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ติดตามผลกระทบและแนวโน้มของเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. 2558 ขยายตัวติดลบ 0.4% เพราะตอนนี้ประชาชนและนักลงทุนเริ่มมีความกังวลว่า เศรษฐกิจจะมีปัญหาเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งได้สั่งให้หามาตรการต่างๆเตรียมรองรับกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ด้วยหากเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจเงินฝืด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงการคลังมีความเห็นในทิศทางเดียวกับ ธปท. ว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะหากดูอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ตัดราคาพลังงานและสินค้าทางการเกษตร จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังขยายตัวเป็นบวก
 
 
 
 
ส่วน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเงินฝืดต้องดูเรื่องความต้องการปริมาณสินค้าลดลง แต่ขณะนี้ความต้องการสินค้าไม่ได้ลดลง ดูจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มใน 3 เดือนที่ผ่านมา ยังขยายตัวเป็นบวก แสดงว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาเงินฝืด ยิ่งดูจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังขยายตัวถึง 1.6% ก็ยิ่งชัดมากขึ้นว่าไทยไม่ได้มีปัญหาเงินฝืด เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการประมาณการเชื่อว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 3.9% ต่อปี จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวดีขึ้น การลงทุนภาครัฐเริ่มเบิกจ่ายได้รวดเร็ว แต่ยังมีปัญหาการขยายตัวการส่งออก จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลร่วมกับทุกฝ่ายรับมือปัญหาการส่งออก

 
 
 
ส่วนภาคเอกชน ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า เงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2558 ที่ติดลบในรอบกว่า 5 ปี จากเดิมคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน จะเข้าขั้นภาวะเงินฝืดได้ แม้ว่าในเดือนมกราคมนี้เงินเฟ้อทั่วไปจะลดลง แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังขยายตัว แต่สถานการณ์ยังไม่น่าห่วง เพราะเป็นเหมือนกันทั่วโลก 

และคิดว่าไทยจะยังไม่เกิดภาวะเงินฝืดเหมือนยุโรป เพราะอัตราการว่างงานของยุโรปสูง ขณะที่ไทยอัตราการว่างงานยังต่ำ และมองว่าการที่เงินเฟ้อที่ลดลงนั้นเป็นผลดี เพราะสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนประหยัดเงินในกระเป๋าและยังมีเงินที่จะนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะกลางได้ ทั้งนี้มองว่าเงินเฟ้อทั้งปีของไทยจะอยู่ที่ 1-1.5%
 

 
 
 
ด้าน นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง เพราะการบริโภคที่ฟื้นตัวช้า การลงทุนภาครัฐและเอกชนยังไม่เต็มที่ ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2558 ที่ติดลบ 0.41% เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง แต่ยังไม่เกิดปัญหาเงินฝืด แต่หากเศรษฐกิจในไตรมาสแรกยังอ่อนแอ และการบริโภคลดลง ทำให้ไทยอาจต้องเผชิญความเสี่ยงภาวะเงินฝืดได้ 
 

LastUpdate 06/02/2558 12:02:03 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 5:05 am