เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองตรุษจีนปี 58 อาจไม่คึกคัก แม้ราคาของไหว้ทรงตัว จากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอและค่าครองชีพสูง คาดเม็ดเงินสะพัด 6 พันล้านบาท


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า  การจับจ่ายเพื่อการเซ่นไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของคนกรุงเทพฯปี 2558 จะมีเม็ดเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 3.5 ใกล้เคียงกับตรุษจีนปีก่อน แม้ว่าคนไทยเชื้อสายจีนจะยังให้ความสำคัญกับเทศกาลตรุษจีน  แต่ความท้าทายจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย และความเชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคตที่ยังให้ภาพไม่ชัดเจน อาจทำให้เทศกาลตรุษจีนในปี 2558  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญที่สุดในบรรดาเทศกาลต่างๆ ของคนไทยเชื้อสายจีนไม่คึกคักมากนัก หากเทียบกับบางปีที่เศรษฐกิจดีและกำลังซื้อสูง


 
 
แม้อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่ค่าครองชีพและภาระค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือนของคนไทยยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากผลของราคาพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าและน้ำมันที่ปรับลดลง ยังส่งผ่านไปไม่ถึงสินค้าจำเป็นที่เกี่ยวกับการครองชีพ อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้ากลุ่มอาหาร  ขณะเดียวกัน ภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ กลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ค่าโดยสารรถสาธารณะ ค่าก๊าซหุงต้ม ก๊าซ NGV รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและเล่าเรียนบุตร

“จากปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ จึงยังเป็นแรงกดดันต่ออารมณ์ใช้จ่ายของคนไทยเชื้อสายจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้พอสมควร โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า บรรยากาศของเทศกาลตรุษจีนปี 2558 มีความคล้ายคลึงกับปี 2552 ซึ่งราคาน้ำมันปรับลดลงจนทำให้ภาวะเงินเฟ้อติดลบ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2552 หดตัวร้อยละ 2.3 ซึ่งในปี 2552 ค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ช่วงเทศกาลตรุษจีนของคนกรุงเทพฯ ก็ขยายตัวต่ำเพียงร้อยละ 2.2 “ศูนย์วิจัยฯระบุ

สำหรับเทศกาลตรุษจีนในปี 2558 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยอาจให้ภาพของการเติบโตดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อที่จำกัด ผนวกกับมุมมองต่อรายได้ในระยะข้างหน้าซึ่งให้ภาพที่ชะลอตัว  ทำให้ภาคประชาชนยังคงเน้นประหยัดและระมัดระวังการใช้จ่ายต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เนื่องจากการเซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีนถือเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมา เพื่อไหว้บรรพบุรุษและเทพเจ้า และเพื่อเป็นสิริมงคลของครอบครัว อีกทั้งเป็นค่าใช้จ่ายที่มีเพียงปีละครั้ง ด้วยเหตุนี้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จึงยังคงมีอยู่ แต่มีแนวโน้มที่คนกรุงเทพฯ จะควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมเกี่ยวกับเครื่องเซ่นไหว้ตรุษจีนในปี 2558 ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเทียบกับปีก่อน

 
 
 
ส่วนราคาสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ก่อนเทศกาลตรุษจีนปี 2558 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากปริมาณผลผลิตที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์ อาทิ หมู ไก่และไข่ ส่วนกลุ่มกระดาษไหว้เจ้าและธูปเทียน น่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว ในขณะที่กลุ่มผลไม้ราคาค่อนข้างทรงตัว อย่างไรก็ตาม โดยปกติราคาสินค้าสำหรับเครื่องเซ่นไหว้ มักจะปรับสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้เทศกาลตรุษจีน โดยเฉพาะช่วงวันจ่าย  ประมาณร้อยละ 10-15 ดังนั้น จึงคาดว่าราคาเครื่องเซ่นไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ น่าจะไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก ยกเว้นเนื้อหมู ซึ่งในปี 2557 ที่ผ่านมาราคาอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยราคาขยับขึ้นไปเฉลี่ย 150-155 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่น้อย ส่วนในปีนี้ผลผลิตมีเพิ่มขึ้นทำให้ราคาปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 125-130 บาทต่อกิโลกรัม

แม้ว่าเทศกาลตรุษจีนจะเป็นช่วงที่คนไทยเชื้อสายจีนจับจ่ายใช้สอยสูงกว่าช่วงอื่นๆ แต่การใช้จ่ายก็เป็นไปด้วยความระมัดระวังเช่นกัน ผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องเซ่นไหว้จึงควรเน้นการทำตลาดทางด้านราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยคาดว่าช่องทางจัดจำหน่ายที่สามารถใช้กลยุทธ์ด้านราคาได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพคือ ช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากจำนวนการสั่งซื้อสินค้าในปริมาณมาก ทำให้ได้รับต้นทุนต่ำกว่าช่องทางจำหน่ายอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ช่องทางจำหน่ายอื่นๆ อาจปรับกลยุทธ์การแข่งขันโดยหันไปเน้นการขายสินค้าที่แตกต่างหรือมีความหลากหลายมากกว่า หรือเพิ่มการบริการ โดยรับจองสินค้าและจัดส่งให้กับลูกค้าในกรณีพักอาศัยใกล้แหล่งขาย เป็นต้น ซึ่งหากผู้ประกอบการทำการตลาดโดยใช้กลยุทธ์นี้เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อลูกค้า ก็น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายได้พอสมควร

นอกเหนือจากกิจกรรมการเซ่นไหว้แล้ว กิจกรรมที่กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่กรุงเทพฯ นิยมทำในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2558 จากผลสำรวจเชิงคุณภาพโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย อันดับหนึ่งคือ การทำบุญไหว้พระตามวัดหรือศาลเจ้าต่างๆ ร้อยละ 55.0  รองลงมาคือ การเยี่ยมญาติ ร้อยละ 50.0 และการพักผ่อนอยู่บ้าน ร้อยละ 48.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากการใช้จ่ายของคนไทยเชื้อสายจีนแล้ว แต่ละครอบครัวมักจะมีการแจกอั่งเปาแก่บุตรหลาน รวมถึงเงินที่นายจ้างแจกให้กับลูกจ้างตามประเพณี โดยกลุ่มที่ตอบแบบสอบถาม มีการแจกอั่งเปาถึงร้อยละ 62.5 จากจำนวนผู้ตอบทั้งหมด และมีค่าใช้จ่ายด้านอั่งเปาเฉลี่ยคนละ 8,500 บาท ซึ่งเม็ดเงินที่ตกแก่ผู้รับอั่งเปา ส่วนหนึ่งนอกจากการเก็บออมหรือใช้หนี้แล้ว บางส่วนจะถูกกระจายไปสู่ภาคธุรกิจต่างๆ  
 

 
 
ทั้งนี้ แม้ว่าภาพการจับจ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนอาจดูไม่คึกคักมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะเป็นวันทำงานของมนุษย์เงินเดือน/พนักงานออฟฟิศและไม่ใช่วันหยุดราชการ อีกทั้งคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยก็เป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกับกลุ่มวัยรุ่น/วัยทำงานในเทศกาลวาเลนไทน์ซึ่งตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่การมาถึงของเทศกาลตรุษจีนที่ต่อเนื่องจากเทศกาลวาเลนไทน์ ก็นับเป็นจังหวะในการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของภาคธุรกิจภายใต้งบประมาณที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชนในช่วงสั้นๆ ได้ ซึ่งหลังจากผ่านพ้น เทศกาลในช่วงต้นปีนี้ไปแล้ว คงจะต้องติดตามว่าภาคประชาชนจะกลับมามีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและนำมาสู่การใช้จ่ายที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ได้ตามที่คาดหวังหรือไม่
 

LastUpdate 14/02/2558 05:16:34 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:08 am