เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สัญญาณ "ส่งออก"ปี 58 ยังน่าห่วง


การส่งออกในเดือนม.ค.2558 ที่ประกาศอย่างเป็นทางการจากกระทรวงพาณิชย์นับเป็นสัญญาณที่ไม่ดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการส่งออกยังคงติดลบร้อยละ 3.5

 

 

แม้ นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะยืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกในปี 2558 ตามเดิมที่ร้อยละ 4 แม้ยอดการส่งออกในเดือนแรกของปีจะติดลบก็ตาม แต่ถือเป็นเป้าหมายการทำงานที่จะเร่งผลักดันร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดในช่วงที่เหลือ 11 เดือนหลังจากนี้ไป 

โดยในไตรมาส 1 ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนว่า การส่งออกในไตรมาสแรกจะขยายตัวเป็นบวกหรือไม่ เนื่องจากยังมีปัจจัยภายนอกจากภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งตามกรอบเดิมอยู่ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 80 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ค่าเงินบาท 32-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และกรมฯ จะมีการประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ ในระหว่างวันที่ 11-16 มีนาคมนี้ เพื่อประเมินภาพรวมทิศทางการส่งออก และปรับกลยุทธ์การส่งออกในเชิงลึก
 
ด้านมุมมองสำนักวิจัยต่างๆ กับมีความเห็นที่น่าสนใจ โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ยอมรับว่า การส่งออกไทยเริ่มต้นปี 58 ได้ไม่ดีนัก และมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำต่อไปในปีนี้ การส่งออกไทยในปีนี้มีปัจจัยหลากหลายที่กดดันการขยายตัว โดยราคาน้ำมันโลกที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติกของไทย ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึง 15% ต่อการส่งออกทั้งหมด อีกทั้งยังกดดันราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคายางพาราและน้ำตาล นอกจากนี้ เศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญของไทยอย่าง จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ต่างมีทิศทางชะลอลง ประกอบกับการที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรปในทุกหมวดสินค้าจะส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวในระดับต่ำต่อไป 

ดังนั้นอีไอซีคาดว่า ทั้งปี 2015 มูลค่าการส่งออกไทยจะขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.8% โดยมีปัจจัยบวกเพียงการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่กลับมาฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวได้ดีขึ้น

ใกล้เคียงกับ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ที่มองการส่งออกปี 2558 โตเพียงร้อยละ 1 จากปัญหารุมเร้าทั้งเศรษฐกิจคู่ค้าเติบโตช้า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ โครงสร้างสินค้าส่งออกที่ไม่สอดคล้องกับตลาด รวมทั้งต้องจับตามองความเสี่ยงค่าเงินเป็นพิเศษในปีนี้ 
 
 
 
 
โดย สินค้าดาวเด่นในปีนี้ จะเป็นสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ได้รับปัจจัยบวกมาจากเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อน หมวดเครื่องดื่ม ได้อานิสงส์จากตลาดอาเซียน โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้านอย่าง CLMV ที่มีการเติบโตสูง หมวดเครื่องจักรกล เติบโตดีในส่วนของเครื่องจักรกลการเกษตร และข้าว จากการเร่งระบายข้าวในคลังของภาครัฐไปแอฟริกา 
 
ด้าน สินค้าส่งออกที่คาดว่ามีแนวโน้มเติบโตต่ำหรือหดตัว ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรที่ราคาหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและผลผลิตลดลงจากผลกระทบของภัยแล้ง กลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ที่ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและมูลค่าที่เร่งขึ้นในปีก่อนจากการแข่งขันฟุตบอลโลก กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์ มูลค่าส่งออกลดลงตามโครงการลงทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น และกลุ่มปิโตรเลียม ที่ราคาปรับลดลงมากและเป็นสาเหตุหนึ่งที่การส่งออกไทยในเชิงมูลค่าโตได้ต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น
 

 
 
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปัจจัยแวดล้อมของการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกที่ยังขาดสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน ทำให้คาดว่ามีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.58 จะหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนม.ค. ที่ผ่านมา และกดดันให้ภาพรวมของมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงไตรมาส 1/2558 มีโอกาสหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 2.0 
 
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินว่า ภาคการส่งออกของไทยน่าจะสามารถกลับมาทยอยฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกทยอยปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่สมดุลมากขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มมีสัญญาณการขยายตัวที่ชัดเจนกว่าในขณะนี้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.พ. 2558 เวลา : 11:03:44
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:21 pm