แบงก์-นอนแบงก์
แบงก์เผย "ลดดอกเบี้ย" อาจไม่ช่วยลดอุปสรรคให้ภาคธุรกิจ


แบงก์ชี้ต้นทุนดอกเบี้ยเป็นเพียง 1 ใน 4 ไม่ใช่อุปสรรคหลักภาคธุรกิจ เผยสถาบันการเงินยังกังวลภาวะเศรษฐกิจหวั่นกระทบเอ็นพีแอล ด้าน"ทีเอ็มบี"เปิดอบรมเอสเอ็มอีเสริมประสิทธิภาพ




นายบุญทักษ์  หวังเจริญ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ  ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในขณะนี้ ซึ่งการลดดอกเบี้ยในขณะนี้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลง 0.25% เหลือ 1.75% ไปแล้ว แต่การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่ช่วยลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการมากนัก ขณะที่อุปสรรคสำคัญของภาคธุรกิจคือการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ เพื่อไม่ให้กระทบต่อหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

"ต้นทุนในเรื่องดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัย 1 ใน 4 ของการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งการพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ต้องดูในหลายองค์ประกอบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารพาณิชย์จะไม่ทำตามนโยบานการเงิน เพียงต้องพิจารณาหลายด้านและเรื่องการแข่งขันด้วย"นายบุญทักษ์กล่าว

นายบุญทักษ์เปิดเผยอีกว่า ธนาคารเปลี่ยนชื่อโครงการ TMB Efficiency Improvement for Supply Chain เป็นโครงการ Lean Supply Chain by TMB  สานต่อมาตั้งแต่กลางปี 2556 และผ่านการอบรมไปแล้ว 4 รุ่น นำร่องด้วยผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและสินค้าอุปโภค โดยมีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 350 บริษัท  ซึ่งได้รับผลตอบรับจากผู้เข้าอบรมเป็นอย่างดี ในจำนวนนี้ มีจำนวน 14 บริษัทที่ได้ผ่านการอบรม Green Belt รุ่นแรก และสามารถนำความรู้ไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพกับองค์กรตนเองได้จริง ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้แล้วกว่า 70 ล้านบาท จากความสำเร็จดังกล่าวปีนี้ ธนาคารจึงขยายการอบรมไปยังผู้ประกอบการสินค้าและบริการด้านสุขภาพและการโรงแรม ซึ่งชื่อใหม่นี้สื่อถึงหลักสูตรที่เข้มข้นด้วยเนื้อหาในการเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งซัพพลายเชนผ่านเทคนิค Lean Six Sigma เพื่อให้โครงการมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและเป็นที่จดจำได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมบริการ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นธุรกิจที่เจริญเติบโตได้ดีและสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการสุขภาพที่สร้างรายได้ให้กับประเทศรวมแล้วถึง 1.30 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 26.7 ล้านคน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการสุขภาพและท่องเที่ยวและรวมถึงธุรกิจต่อเนื่องที่เป็น supply chain (ทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียน เช่น ร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านขายยา ร้านขายอาหาร บริการสุขภาพ สปา ธุรกิจบันเทิง ) มีจำนวนกว่า 2 ล้านราย เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูง มีซัพพลายเชนที่กว้างและยาว โดยมีมูลค่าประมาณ  6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 5% ของ GDP
 
จากสถิติพบว่า ต้นทุนของธุรกิจนี้มีสัดส่วนสูงถึง 64% หากทำให้ต้นทุนลดลงได้ 1% ก็จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นถึง 0.03%  ดังนั้นทีเอ็มบีจึงมีความตั้งใจจัดอบรมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ เพราะนอกจากจะช่วยผู้ประกอบการทั้งซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแล้ว ยังตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศในการก้าวสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและบริการสุขภาพของอาเซียนอีกด้วย

สำหรับรุ่นที่ 5 ที่จะเปิดอบรมผู้ประกอบการสินค้าและบริการด้านสุขภาพและการโรงแรม ธนาคารฯได้รับเกียรติจากบริษัทในเครือ BDMS และ โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา มาร่วมเป็นพันธมิตรหลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้และกรณีศึกษา พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการอีกด้วย 

 
 
นายณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ กรรมการคณะผู้บริหาร บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS กล่าวว่า BDMS ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพในองค์กร โดยได้ทำการพัฒนาประสิทธิภาพมาโดยตลอด ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างเครือข่ายได้อย่างแข็งแรงในปัจจุบัน BDMS เห็นว่าโครงการนี้สนับสนุนการพัฒนาทั้งซัพพลายเชน ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของบริษัทฯที่อยากพัฒนาทั้งองค์กร คู่ค้า และซัพพลายเออร์ ให้มีคุณภาพทั้งในเรื่องระบบการทำงาน สินค้าและการบริการ เพราะสุดท้ายจะเกิดผลประโยชน์ร่วมกัน โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและให้ประโยชน์กับผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน นำประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพในเอเชีย

ด้าน นายธีระเกียรติ จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายจัดซื้อ โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราเป็นธุรกิจบริการ จึงให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพของการบริการเป็นอันดับต้นๆ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจมากที่สุด โดยปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการภายในอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการบริการของเรา คือ การคัดเลือกวัสดุอุปกรณ์จากซัพพลายเออร์ที่มีประสิทธิภาพเราจึงให้ความสำคัญกับการพูดคุยกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้าของโรงแรมในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดผลตลอดทั้งซัพพลายเชน อีกปัจจัยหนึ่งคือ ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจตามฤดูกาล การแชร์แผนงานกันอย่างใกล้ชิด เช่น การวางแผนการจัดเก็บสินค้าคงคลังอย่างเป็นระบบเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพตรงกับสเปคที่ตกลงกันไว้ และเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด หรือส่งได้บ่อยตามที่เราต้องการ สำหรับคู่ค้าเขาก็สามารถวางแผนการจัดการภายในของตนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะส่งผลดีไปตลอดทั้งซัพพลายเชน 

โครงการ “Lean Supply Chain by TMB” เป็นโครงการอบรมที่มีความแตกต่างจากหลักสูตรทั่วๆไป คือ เนื้อหามุ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพทั้งซัพพลายเชน สามารถนำไปประยุกต์ใช้จนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม มีองค์กรชั้นนำในแต่ละอุตสาหกรรมร่วมเป็นพันธมิตรในการถ่ายทอดความรู้และกรณีศึกษา และสามารถสร้างคอนเนคชั่นและต่อยอดธุรกิจกับผู้เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในซัพพลายเช่นเดียวกัน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 มี.ค. 2558 เวลา : 09:27:00
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 2:49 pm