แฟชั่น-เดินทาง-กินดื่ม-เที่ยว
เมืองแพร่ อนึ่งคิดถึง...มาก (1) "คุ้มวงศ์บุรี" โดย นาริฐา จ้อยเอม เรื่อง/ภาพ


 
 
ต้องบอกว่า ครั้งหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อนในห้วงคิดคำนึงเมืองแพร่ยังคงเป็นเพียงเมืองเลยผ่านเพื่อจะเดินทางต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อเมื่อมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกับชุมชนวิถี วัฒนธรรมวิถี สถาปัตยกรรมแลศิลปะ ประเพณีต่างๆของเมือง ทำเอาฉันรู้สึกว่า... ตัวเองมัวไปทำอะไรอยู่ ถึงพลาดเมืองที่น่าอยู่แบบนี้ไปได้หนอ ?
 
 
ด้วยครั้งนี้... ฉันมีโอกาสได้พบกับผู้นำท้องถิ่นที่หลากหลายทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ชาวบ้านร้านถิ่น ไปจนร้านขายของชำโบราณ ทำให้การมาเยือนไม่ใช่เพียงผิวผ่าน แต่สัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณของผู้คน ที่รักและหวงแหนวัฒนธรรมล้านนา อันงดงามอย่างเต็มหัวใจ 
ก่อนจะทายทัก ควรรู้จักกับที่มาของเมืองก่อน ฉันเปิดเอกสาร ผ่อเฮือนเก่า เล่าตำนานเมืองแป้ บอกเล่าว่า "แพร่" เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งในภาคเหนือของประเทศ เป็น 1 ใน 8 กลุ่มเมืองล้านนาภาคเหนือตอนบน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยพ่อขุนพลราวปี พ.ศ. 1371 ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม มีกำแพงดินสูงกั้นโดยรอบ ผังเมืองเป็นรูปสังข์ คล้ายกับเมืองหริภุญไชย เมืองแพร่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรใหญ่หลายแห่ง จึงได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย จนกระทั่งปลายรัชกาลที่ 5 ได้มีบริษัททำไม้จากเดนมาร์คและอังกฤษ เข้ามาขอสัมปทานทำป่าไม้โดยจ้างชาวไทยใหญ่ (เงี๊ยว)มาเป็นแรงงานและให้ช่างชาวจีนก่อสร้างอาคาร 
 
ยุคเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ อิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา คุ้มเจ้าถูกรื้อสร้างใหม่ กลายเป็นสถาปัตยกรรมโคโลเนียล มีเรือนไม้เรียกว่าเรือนขนมปังขิง มีหลังคาทรงปั้นหยาทดแทนอาคารบ้านเรือนแบบเดิม หลังสิ้นสุดระบบเจ้านายปกครองเมืองแพร่ ชาวเมืองแพร่จึงได้ใช้ไม้สักที่เป็นทรัพยากรในท้องถิ่นมาปลูกเรือนแทนไม้ไผ่ เป็นเรือนไม้ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรือนร้านค้า บ้านพักอาศัยของเจ้านาย คหบดี จนถึงเรือนพักอาศัยของประชาชน 

คุ้มวงศ์บุรี 
การสัมผัส “แพร่” เริ่มขึ้นในช่วงสายของวันท่ามกลางอากาศร้อนระอุของฤดู  ณ คุ้มวงศ์บุรี ตำบลในเวียง อำเภอเมือง เพื่อสัมผัสกับคุ้มเจ้านายในอดีต โดยมีทายาทคุ้มวงศ์บุรีหนุ่มใหญ่วัยกลางคนซึ่งดูสุภาพอ่อนโยน คุณสหยศ วงศ์บุรี เป็นผู้นำชมด้วยตนเอง 
 
 
 
 
บ้านหรือคุ้มหลังนี้เสมือนแทนความรักที่แม่มีต่อลูก เนื่องจากแม่เจ้าบัวถากับพระยาบุรีรัตน์ไม่มีบุตรจึงนำเจ้าสุนันตามาเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อเจ้าสุนันตาแต่งงานกับหลวงพงษ์พิบูลย์จึงสร้างบ้านหลังนี้ให้เป็นของขวัญวันแต่งงาน ในปี 2440  โดยช่างชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง บ้านเป็นลักษณะยุโรปประยุกต์ หลังคาสูงทรงปั้นหยา 2 ชั้น ฐานก่ออิฐถือปูน สูงจากพื้น 1 เมตร ลวดลายเครือเถาและไม้แกะสลักรอบบ้าน ทั้งหน้าจั่ว ช่องลม ประตู หน้าต่าง ซึ่งเรียกว่าทรงขนมปังขิง ได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 
คุณสหยศ เล่าว่า “ลูกหลานทุกรุ่นซ่อมแซมบูรณะกันเรื่อยมา ซ่อมครั้งหลังสุดเมื่อสิบปีก่อน โครงสร้างเดิมแต่ปรับปรุงเรื่องลายฉลุที่โดนแดด บนจั่ว ทาสีบ้าง แต่รักษาโทนสีเดิมไว้ทั้งหมด 
 
 
 
คุณแม่บอกว่าแต่เดิมเป็นรั้วสีชมพูด้วย แต่มาเปลี่ยนหลังจากนั้นไม่นาน บ้านหลังนี้ทำจากไม้สักทองทั้งหลังสำหรับทายาทแล้วถือเป็นที่ที่ทั้งรักและหวงแหน เพราะผมเองก็เกิดที่บ้านหลังนี้ ถือเป็นจิตวิญญาณของผมก็ว่าได้ จากความยกย่องในบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา ทุกครั้งที่มาคุ้มหลังนี้จะกราบทุกครั้ง ส่วนผู้ที่เยี่ยมชมก็จะบอกต่อๆกันว่าเหมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต 
 
 
ทุกส่วนไม่ได้จัดแต่งอะไร อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ทุกห้องเหมือนร้อยกว่าปีก่อน เวลาเดินชมจะเหมือนมีเจ้าของบ้านมาเดินด้วย ผมกับลูกสาวจะนำชมเอง ที่นี่เหมือนมีชีวิตจริงๆ สามารถตอบคำถามได้ทุกอย่าง ทุกชิ้นส่วนของบ้าน”  
การออกแบบเป็นการออกแบบโดยช่างจีนกวางตุ้ง แต่สล่าเมืองแพร่เป็นผู้ทำ สล่าแพร่จึงสืบทอดฝีมือการสร้างบ้านไม้ที่ดีที่สุด มีการออกแบบการก่อสร้างที่แข็งแรง ปัจจุบันจึงมีบ้านหลายร้อยหลังที่มีอายุเก่าแก่จากการสำรวจของชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ที่คุณสหยศก่อตั้งขึ้น   อีกทั้งคุณภาพของไม้สักจังหวัดแพร่ ที่ขึ้นชื่อมีคุณภาพ เนื่องจากภูมิศาสตร์ ทำให้การเติบโตของไม้สักธรรมชาติ เป็นไปอย่างช้าๆ และมีภูมิต้านทานเรื่องดินฟ้าอากาศ ไม้สักที่แพร่จึงมีความแข็งแรงสูง  
 
 
ภายในบริเวณคุ้มวงศ์บุรี เริ่มจากห้องโถงรับแขก ถัดมาในส่วนของอาคารด้านทิศตะวันออกเป็นห้องนอนของเจ้าสุนันตา ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้ เปล โต๊ะ เตียง ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้อย่างดี ติดกันเป็นห้องขนาดเล็กเป็นห้องผีครู ชาวล้านนาในยุคก่อน นอกจากนับถือพระยังนับถือผีกันทั่วไป ผีป่า ผีบ้าน ผีเรือน ที่นี่นับถือผีครู เพราะทำธุรกรรมเกี่ยวกับป่าไม้และช้าง เพื่อปกป้องคุ้มภัย เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่า ช้างมีบารมีสูง หากนำเข้าบ้านไม่มีบารมีดีพอจะแพ้ภัยตนเอง ในทุกวันที่ 16 เมษายนของทุกปี ทายาทจะสืบทอดการไหว้และขอขมาเป็นประจำ 
  
 
ต่อด้วยห้องทำงานของหลวงพงศ์พิบูลย์ ห้องที่ถือเป็นแหล่งค้นคว้าประวัติเมืองแพร่ทีเดียว เพราะเป็นที่เก็บรวบรวมเอกสารสำคัญมากมาย ทั้งโฉนดที่ดินโบราณ เอกสารประกอบการทำสัมปทานป่าไม้กับตระกูลใหญ่ๆ อย่าง ล่ำซำ มีเอกสารการซื้อทาส สมัย พ.ศ. 2440-2448 ท่านซื้อทาสไว้ 69 คนเป็นเงิน 3140 บาท ราคาคนละ 20-60 บาท 
 
 
ส่วนของกลางบ้านเป็นชาน ลักษณะเปิดโล่งในอดีต เป็นที่นั่งทานอาหารลักษณะขันโตก  ทำขนม ร้อยดอกไม้ ถัดมาเป็นห้องเก็บเสบียงเก็บอาหารของแห้ง ข้างๆ จะเป็นห้องหัวหน้าทาส ทาสจะขึ้นเรือนไม่ได้ มีเพียงหัวหน้าทาสเท่านั้นที่เป็นแม่บ้านคนสำคัญในเรื่องการดูแลทั้งหมดเชื่อมระหว่างเจ้ากับทาส
 

ถัดมาเป็นห้องแสดงบรรพบุรุษสำหรับกราบไหว้  สมัยก่อนเป็นห้องเก็บโตก เมื่อเจ้านายทานเสร็จหรือประสงค์ให้เก็บไว้ก่อนที่จะทาน 
ส่วนห้องพระที่เป็นปัจจุบัน แต่เดิมเป็นห้องเก็บของมีค่า อาทิ เครื่องเงิน เครื่องทอง จึงมีลูกกรง ซึ่งเป็นลูกกรงเดิม  เป็นห้องที่ติดกับห้องนอนใหญ่ 
 
 
 
 
 
สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเยี่ยมชม สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ค่าเข้าชม 30 บาททั้งชาวไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริม คือ การจัดขันโตกสำหรับนักท่องเที่ยว สามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่โทร 0 5462 0153  ด้านล่างติดประตูรั้ว จะมีร้านอาหารสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวได้รับทานอาหารของทางล้านนาอีกด้วย 
 
เมืองแพร่ยังมีสถานที่ๆน่าสนใจอีกมากมาย ติดตามได้ในตอนหน้า

LastUpdate 16/04/2558 01:17:25 โดย :
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:54 pm