แฟชั่น-เดินทาง-กินดื่ม-เที่ยว
เมืองแพร่ อนึ่งคิดถึง...มาก (2 ) เจ็ดเส้นทางอัพเดทท่องเที่ยวแบบเมียงมอง ณ อำเภอลอง



 

แนะนำบ้านวงศ์บุรีกันแล้วในตอนที่1 ครั้งนี้เดินทางกันต่อไปยัง "อำเภอลอง" เพื่อหาประวัติความเป็นมาของคำว่า “แป้ แห่ระเบิดหรือแพร่ แห่ระเบิด” โดยนัดหมายกับ คุณต้อง – เชษฐา สุวรรณสา เจ้าของร้านกาแฟแห่ระเบิดและหอศิลป์แห่ระเบิด ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนและศิลปินอิสระ 

 

บริเวณด้านหน้า มีเรื่องราวประวัติความเป็นมาของการเรียกขานว่า แป้ แห่ระเบิด  จากการบันทึกโดยนายณรงค์ จันทรางกูร เขียนไว้ว่า “เมื่อราว 40 ปีก่อน ผมไปทำงานที่เมืองน่าน ถูกทักทายเชิงล้อเลียนอยู่เสมอว่า เมืองแพร่แห่ระเบิด ผมยังไม่รู้ความหมายได้แต่หัวเราะแหะ แหะ ล่าสุด เมื่อ ไปติดต่องานที่เชียงใหม่ก็มีคนทักอีก จึงคิดว่าน่าจะต้องศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เป็นมาอย่างไร มีความหมายอะไร ประกอบกับรู้เรื่องของสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่บ้างจึงหารือกับคุณสุรินทร์ โสภารัตนานันท์ อดีตเสรีไทย ท่านก็ได้เล่าคร่าวๆให้ฟัง และว่า นายหลง มโนมูล คนงานรถไฟสถานีแก่งหลวงไปพบซากระเบิดที่ทิ้งเพื่อทำลายสะพานรถไฟข้ามห้วยแม่ต้า เพื่อสกัดการเดินทางของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้มาบอกนายสมาน หมั่นขัน เมื่อนายสมานไปดู และขอความช่วยเหลือจากคนงานรถไฟ ให้ช่วยกันขุดและใช้เลื่อยตัดเหล็กส่วนหางของลูกระเบิดควักเอาดินระเบิดที่บรรจุอยู่ภายในออก เพื่อเอาไปประกอบใหม่เป็นระเบิดขนาดเล็กสำหรับระเบิดปลาที่แม่น้ำยม และช่วยกันหามขึ้นล้อ(เกวียน) นำไปพักไว้ที่บ้านแม่ลู้ 


ต่อมานายหลง ได้ไปลากต่อมาจากบ้านแม่ลู้ ชาวบ้านทราบข่าวก็พากันแตกตื่น เดินตามกันมาเป็นขบวนยาวเหยียด วัดพอทราบข่าวก็แห่ต้อนรับพร้อมวงฆ้องกลองยาว ทำพิธีถวายให้เป็นสมบัติของวัด เพื่อใช้เป็นระฆังของวัดจนถึงปัจจุบัน

ระเบิดลูกที่ 2 นำไปถวายวัดศรีดอนคำ ส่วนลูกที่ 3 นายบุญมา อินปันดี ลากไปเก็บไว้ที่ วัดนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง ทางวัดได้สร้างหอระฆังไว้รองรับอย่างดีและเสียงระฆังดังกังวานได้ยินไปไกลมาก”

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ชื่อ คุณต้อง ซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยโดนเพื่อนล้อเลียนว่ามาจากเมืองแพร่แห่ระเบิด ทำให้เขาและทีมช่วยกันค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมลงลึกไปจนถึงเสรีไทยในอดีต

จนกระทั่งนำกลับมาถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สั้นที่ทำขึ้นมาเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงความสำคัญของเสรีไทยในอดีตอันเป็นรากเหง้าที่ควรภาคภูมิใจในกลุ่มชาติพันธ์ของตนเอง ไม่ใช่เป็นที่หัวเราะเยาะหรือการล้อเลียนเหมือนที่เคย  

จากการที่เป็นนักคิดนักเขียน ทำให้เขาและเพื่อนกลุ่มฮาร์ดคอร์ ร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในอีกหน้าหนึ่ง ที่เชื่อมโยงระหว่างแพร่แห่ระเบิดสู่การสู้รบของกลุ่มเสรีไทย นอกจากนี้เขายังเป็นหัวเรือใหญ่ในการชักชวนชาวบ้านในชุมชนละแวกใกล้เคียง ร่วมกันเห็นคุณค่าของบ้านเรือนโบราณ โดยเตรียมจัดทำกิจกรรมเพื่อเปิดเส้นทางท่องเที่ยวที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาค้นหาความสำคัญของที่นี่ ซึ่งถือเป็นการย้อนรอยเสรีไทยกับนิยามเมืองของตนเองที่ว่า อินดี้ นครา เมืองโหด มัน ฮา 

 

สำหรับเส้นทางท่องเที่ยว 7 แห่งในละแวกโดยรอบจากความตั้งใจของเขาและทีมงานกลุ่มเล็กๆ 

เป็นการท่องเที่ยวแบบมองเมียงเริ่มจาก ร้านกาแฟแห่ระเบิด  ข้ามถนนเยื้องกันไม่ไกลนักก็ถึงวัดโพธิ์ หลังจากนั้นเดินลัดเลาะหลังวัด ก็จะพบกับบ่อตาน้ำผุดอายุร้อยกว่าปี

คุณต้องชี้ชวนให้ดูพลางเล่าว่า “บ่อนี้เป็นบ่อตาน้ำผุด ใช้ไม้มาล้อมเป็นบ่อ มีอายุร้อยกว่าปีแล้ว ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านตั้งแต่สมัยโบราณ โดยใช้ต้นไม้ท่อนโตผ่ากลางกลางเสียบลงไป”

 

ปัจจุบันบ่อน้ำแห่งนี้ชาวบ้านยังคงใช้ประโยชน์อยู่ อาจดูขัดตาสักเล็กน้อยกับเจ้าท่อพีวีซีสีฟ้าเข้มที่ชาวบ้านต่อเอาไว้เพื่อใช้งานก็ตาม  แต่ได้มีการเตรียมการสำหรับการตกแต่งใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานที่ 

จากจุดนี้เดินละเรื่อยไปก็จะพบกับ"โรงเรียนบ้านปิน(ปินประชาราษฎร์"โรงเรียนที่หัวหน้ากลุ่มอินดี้นคราเคยร่ำเรียนมาสมัยตัวกระเปี๊ยกปัจจุบันอาคารไม้สักโบราณทั้งหลังแห่งนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของผู้บริหารว่าจะรื้อถอนหรือไม่  

ทั้งตัวพื้น ฝาผนัง รั้ว ราว ทำจากไม้แทบทุกส่วนซึ่งยังเป็นไม้สักโบราณ ยกเว้นหลังคาที่ได้รับงบประมาณในการแก้ไขใหม่ ครูเสาวลักษณ์ ชูเกียรติ ครูชำนาญการพิเศษ ป. 3 วัยใกล้เกษียณ เปิดห้องเรียนเก่าแก่ให้เยี่ยมชม บอกว่า “โรงเรียนนี้สร้างมาจะร้อยปีอยู่แล้ว เมื่อก่อนม้านั่ง เก้าอี้นักเรียนเป็นไม้ทั้งหมด แต่เพิ่งมีคนมาบริจาคเป็นพลาสติก 

จริงๆ ก็ไม่อยากให้รื้อ อยากให้อนุรักษ์เอาไว้ แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร เพราะอีกไม่นานเราก็จะเกษียณราชการแล้ว คงไปทำอะไรไม่ได้” 

บริเวณด้านหน้าอาคารไม้ มีต้นหูกวางขนาดใหญ่เรียงราย แต่ถูกตัดยอดไปพอสมควร เมื่อถามไถ่ถึงความคิดของครูวัยละอ่อนที่เดินมาด้วย สิ่งที่ได้ยินก็คือ ฝักตกลงมารกเลยตัดออก แต่เดี๋ยวก็ขึ้นใหม่ อืมมม....นั่นซีนะ ... เดี๋ยวก็ขึ้นใหม่ สงสัยพรุ่งนี้คงโตเหมือนเดิมแล้วซี... ฉันแอบคิดอยู่ในใจ 

“มีแต่คนอยากรื้อครับ เพราะโรงเรียนเป็นไม้สักทั้งหลัง ราคาดี” คุณต้องกระซิบ 

ก็ได้แต่หวังว่า ชุมชนจะเข้มแข็งและมีพลังมากพอที่จะต่อสู้กับสิ่งนี้ 


 

...สลัดสิ่งที่ค้างในสมองออกไป ฉันเดินหน้าต่อ คราวนี้ก็ได้พบกับสถานีตำรวจบ้านปินที่ทำจากไม้ 2 ชั้นใต้ถุนยกสูงบนเนื้อที่กว้างขวางสะอาดตา มองเข้าไปเมืองนี้ท่าทางจะเงียบสงบจริงๆ ผิดกับโรงพักในเมืองกรุงฯ ที่ฉันอาศัยโต 

“ศาลเจ้าเก่าแก่ของที่นี่ครับ” คุณดริ๊งค์ เพื่อนร่วมทางเดินมาชี้ชวนให้ชม ศาลเจ้าเก่าเล็กๆ สร้างจากอิฐทาสีแดง ตั้งอยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจ วันนี้ดูจะไม่รับแขก ประตูเหล็กปิดตายมีเพียงรถจักรยานจอดอยู่ ต้นไม้ขนาดใหญ่ตรงหน้าบ่งบอกอายุขัยเพิ่มความขลังได้เป็นอย่างดี 

 

ย่านชุมชนแถวสถานีรถไฟ ถือเป็นอีกแห่งที่ไม่ควรพลาด ฉันเห็นเรือนแถวไม้หลังเก่าเรียงรายตลอดสองข้างทาง แม้จะแซมแทรกด้วยตึกอิฐอยู่บ้าง สังกะสีบ้าง แต่ก็ยังมีเสน่ห์ของเรือนไม้โบราณให้ชื่นชมกัน 

คุณนิตย์ กับคุณธิดาพร ปิ่นปกรณ์ สองแม่ลูกเจ้าของร้านของชำที่ปัจจุบันเปลี่ยนมาค้าขายเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งยิ้มเชิญชวนผู้มาเยือนและทายทักอย่างเป็นกันเอง 

“อยู่กันมาตั้งแต่อากง อาม่าแล้วค่ะ พื้นนี่ก็เป็นพื้นปูนเดิมๆ ที่เห็นเป็นริ้วรอยเพราะเกิดจากการขัดถู ถ่ายรูปได้ตามสบายค่ะ ดีใจนะคะที่มาเที่ยว” ลูกสาวที่ผละจากแป้นเครื่องคิดเลขมายืนคุยด้วย 

ถนนย่านนี้ เป็นถนนสายเล็กๆ เพียง 2 เลนสวนกันซึ่งนำเข้าไปสู่สถานีรถไฟบ้านปิน แต่ก่อนจะถึงสถานีรถไฟ ฉันก็ตื่นตากับบ้านพักจากโบกี้รถไฟ บางหลังใช้โบกี้รถไฟเพียงตู้เดียว บางหลังนำสองตู้เคียงคู่กัน ส่วนกลางต่อเติมด้วยไม้สำหรับวางสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน บางหลังทำหลังคายื่นบังแดด ขณะที่บางหลังทำระเบียงไว้นั่งเล่นนอนเล่นยามอากาศร้อนผะผ่าว 

 

ทุกหลังยังคงใช้งานอยู่จริง ฉันขออนุญาตเจ้าของบ้านเพื่อขอบันทึกภาพ ทุกคนส่งยิ้มด้วยมิตรไมตรี บ้างเชิญชวนให้นั่งดื่มน้ำแข็งแก้กระหาย แต่เพราะเวลามีไม่มากพอจึงได้แต่ขอบคุณในน้ำใจไมตรีนั้น  

เดินอีกไม่กี่ก้าว ก็ถึงสถานีรถไฟบ้านปิน สถานีรถไฟที่สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2457 โดยการรถไฟแห่งสยาม ที่มีพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยาการ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน  เป็นผู้บัญชาการและนาย เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ ชาวเยอรมันเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง  เพิ่งฉลองอายุ 101 ปีไปหมาดๆ 

สถานีรถไฟเล็กๆ แห่งนี้งดงามด้วยศิลปะยุโรป แม้จะเป็นเพียงแค่สถานีระดับอำเภอ แต่เพราะการออกแบบสไตล์  “เฟรมเฮ้าส์” แบบบาวาเรียน (Bavarian Timber Frame House) ซึ่งเป็นที่นิยมมากในแคว้นบาวาเรียของเยอรมัน ซึ่งมีอยู่เพียงแห่งเดียวในเมืองไทย ทำให้ดูโดดเด่นงามตาขึ้นมาทีเดียว 

ท่าทางนายสถานีจะคุ้นชินกับผู้มาเยือนพอสมควร ก็เมื่อฉันขอเข้าไปเยี่ยมเยียนถึงบนเรือนชั้นสองภายในอาคารสถานี ก็เชื้อเชิญต้อนรับเป็นอย่างดี 

ประตูโค้งสลักลายดูจะเป็นเอกลักษณ์ที่สวยงามของรูปทรงสถาปัตยกรรม แม้แต่ช่องซื้อตั๋วยังคงบ่งบอกกาลสมัย อุปกรณ์ใช้สอยภายในยังคงเป็นแบบโบราณ เสียดายก็แต่ตารางการเดินรถไม่เป็นใจกับห้วงเวลาที่มีอยู่ ครั้งนี้จึงไม่มีโอกาสได้บันทึกภาพงดงามของขบวนรถไฟสายเก่าแก่ที่แวะเวียนมาที่นี่ ติดตามชื่นชมวิถีวัฒนธรรมกันในตอนต่อไปค่ะ 

เรื่อง / ภาพ โดย นาริฐา จ้อยเอม


LastUpdate 23/04/2558 02:42:26 โดย :
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:06 pm