เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"นาโนไฟแนนซ์" โอกาสเข้าถึงสินเชื่อของรายย่อย


 

 

ในที่สุด "นายสมหมาย ภาษี"  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้มอบใบอนุญาตประกอบแก่ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ให้แก่ 4 บริษัท ที่มีคุณสมบัติครบ ซึ่งได้แก่ บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด, บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด ซึ่งทั้งสองแห่งจะเริ่มให้สินเชื่อตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ และบริษัท สหไพบูลย์ (2558) จำกัด จะเริ่มในเดือนพฤษภาคม ส่วน บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) จะเริ่มได้เดือนกรกฎาคม เพื่อให้การเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนรายย่อยทำได้ง่ายขึ้น

 

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้ออกหนังสือเวียนแจ้งถึงธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน (บง.) และบริษัทผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย เพื่อการประกอบอาชีพ ภายใต้ กำกับที่มิใช่สถาบันการเงินทุกแห่ง (นอนแบงก์) ทุกแห่ง ที่ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ หรือนาโนไฟแนนซ์ ตามโครงการของรัฐบาล ให้จัดส่งข้อมูลโดยละเอียดให้ ธปท.ตั้งแต่เดือนแรกที่เริ่มดำเนินการ

ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ จะต้องจัดส่งข้อมูลการให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทางอินเทอร์เน็ต ในรูปเอ็กเซลตามแบบฟอร์มที่ ธปท.กำหนดให้กับ ธปท.และกระทรวงการคลัง ผ่านทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในทุกๆ เดือน และตั้งแต่เดือนแรกที่เริ่มดำเนินกิจการ

โดยข้อมูลสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ที่ต้องส่งตามแบบฟอร์ม ประกอบด้วย การแยกลูกค้าตามวงเงินตั้งแต่ 5,000-1 แสนบาท แยกเป็น 9 กลุ่มตามขนาดวงเงิน พร้อมแจ้งจำนวนบัญชีที่ลูกค้ากู้ พร้อมยอดสินเชื่อคงค้าง ข้อมูล สินเชื่อที่ปล่อยใหม่ทั้งจำนวนบัญชีและยอดสินเชื่อ ยอดการผิดนัดชำระหนี้เกิน 1 เดือนแต่ไม่ถึง 3 เดือน, การค้างหนี้เกิน 3 เดือนหรือเอ็นพีแอล, การค้างหนี้ 3-6 เดือน ,การค้างหนี้เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี และการค้างหนี้เกิน 1 ปี รวมทั้งยอดการตัดหนี้สูญ

 

ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ อีไอซี คาดว่า ภายใน 2 - 3 ปีแรก ยอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์น่าจะอยู่ที่ประมาณ 35,000 - 60,000 ล้านบาท โดยแม้ว่านาโนไฟแนนซ์จะเป็นสินเชื่อที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบอาชีพเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น แต่ในช่วงแรกคาดว่าความต้องการขอสินเชื่อจะมาจาก 2 กลุ่มใหญ่หลัก คือ 1)กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ และ 2) กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินอยู่แล้วแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

อีไอซีมองว่า มาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบได้ แต่คงเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจาก 1) ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเข้ามาประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก 2) ผู้ประกอบการไม่มีความคุ้นเคยกับลูกหนี้เหมือนกับเจ้าหนี้นอกระบบ และ 3) แม้จะมีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่น แต่ผู้ประกอบการยังคงมีความเข้มงวดในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ใหม่

สำหรับธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันปล่อยสินเชื่อรายย่อยที่รุนแรงขึ้น คงหนีไม่พ้นธนาคารออมสิน 

 

 

 

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การเปิดตัวของนาโนไฟแนนซ์ จะไม่มีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารออมสินในอนาคต เพราะผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย ถูกกำหนดวงเงินในปล่อยสินเชื่อไม่เกินรายละ 100,000 บาท ซึ่งเป็นระดับความต้องการเงินกู้ของประชาชนรากหญ้า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้จะอยู่ในระดับสูงคือ 36% ต่อปี สูงกว่าสถาบันการเงินทั่วไปก็ตาม แต่ความเสี่ยงจากการปล่อยกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสีย


LastUpdate 24/04/2558 12:13:35 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 12:51 am