เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
จี้รัฐเร่งเบิกจ่ายงบไตรมาส 2 ชี้ชะตาเศรษฐกิจไทย


"บัณฑูร ล่ำซำ" ชี้รัฐเร่งเบิกจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ผลกว่าใช้ดอกเบี้ย จี้เร่งแก้ปัญหาอียูใบเหลืองไทยก่อนปิดประตูใส่ภาคส่งออก ด้าน "ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี" จี้รัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้มากกว่านี้ โดยให้เม็ดเงินไปสู่ภูมิภาค ผ่านการขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็กที่ทำได้เร็ว เพื่อให้โมเมนตั๊มหมุนต่อเนื่อง และทดแทนรายได้ท่องเที่ยวที่จะหายไปในไตรมาสสอง ไม่เช่นนั้นการฟืื้นตัวเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะไม่เด้ง และโอกาสที่ตัวเลขเศรษฐกิจทุกตัวจะพลาดเป้ามีสูง



 

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมาสแรกเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่น้อยลงส่งผลให้เอ็นพีแอลขยับขึ้นสูง อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องเอ็นพีแอลไม่น่ากังวลเนื่องจากธนาคารมีความพร้อมในการรับมือด้วยการตั้งสำรองส่วนเกินเอาไว้รองรับแล้วและมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น  

ส่วนการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะถึงวันที่ 29 เม.ย.นี้ อัตราดอกเบี้ยไม่มีผลต่อเศรษฐกิจมากนัก ข้อจำกัดของเศรษฐกิจในขณะนี้คือ การเบิกจ่ายงบประมาณที่เป็นสิ่งจำเป็นมากกว่า ซึ่งภาครัฐต้องเร่งแก้ปัญหา ข้อจำกัดต่างๆที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีประเทศไทยที่เสี่ยงโดนใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (EU) กรณีประมงหรือกรณีการบินระหว่างประเทศที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ หากไทยโดนปิดประตูใส่จะแย่กันไปหมด เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกอาหารทะเลเป็นสินค้าหลัก

"ผมมองเรื่องการเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ประเด็นใหญ่ คือ ไทยไม่เข้ากติกาสากล เราถูกสกัดกั้นทางการค้า ฉะนั้นรัฐต้องรีบแก้ข้อจำกัดนี้ให้ได้ เพราะจะมีผลต่อการส่งออก โดยเฉพาะส่งออกอาหารทะเล ถ้าเขาปิดประตูใส่ก็วิกฤติแน่ ฉะนั้นถ้ารัฐแก้ทัน ประตูก็ไม่ปิด แต่ถ้าแก้ไม่ทัน ประตูก็ปิด และเราก็จะแย่กันไปหมด" นายบัณฑูรกล่าวย้ำ

 

ด้าน นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics  กล่าวว่า คาดในการประชุมของ กนง.วันที่ 29 เมษายน นี้ ที่ประชุมจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% หลังจากที่การประชุมครั้งก่อนปรับลดดอกเบี้ยลงไปแล้ว เนื่องจากผลจากนโยบายการเงินจะถูกส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจต้องใช้เวลากว่า 1 – 2 ไตรมาส แต่ผลจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งที่แล้ว แม้ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามเพื่อจูงใจผู้บริโภค แต่ยังไม่มากนักเนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังไม่สดใส ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องระมัดระวังการให้สินเชื่อ สะท้อนจากเอ็นพีแอลในไตรมาสแรกที่ขยับขึ้น แม้จะเป็นไปตามที่คาดการณ์ แต่ก็เป็นปัจจัยให้ภาคธนาคารระมัดระวังในการให้สินเชื่อเช่นกัน

“แม้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกจะขยับขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ก็มีการตั้งสำรองไว้มาก โดยทุกแห่งสำรองเกิน 100 % ทั้งสิ้น จึงยังสามารถคุมความเสี่ยงได้ แต่กลุ่มธุรกิจที่น่าห่วงที่มีการ
เพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลค่อนข้างสูง คือ กลุ่มเอสเอ็มอีที่ซื้อมาขายไป ฉะนั้นรัฐต้องรีบกระจายเม็ดเงินลงทุนภาครัฐไปสู่ภูมิภาคให้เร็วที่สุด”นายไตรรงค์กล่าว

นายไตรรงค์กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ TMB Analytics  ได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาสแรกของปีนี้ จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME กว่า 839 กิจการ ครอบคลุม 66 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการล่าสุดไตรมาส 1 อยู่ที่ 43.7 ปรับตัวขึ้นจากระดับ 37.1 ไตรมาสก่อนหน้านี้ หรือดัชนีเพิ่มขึ้นถึง 6.6 นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้น มากที่สุดในรอบกว่า 2 ปี โดยผู้ประกอบการมองรายได้ของธุรกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนต้นทุนของ SME ได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันที่ลดลงตั้งแต่ปลายปีก่อน

 

 

“เมื่อสำรวจมุมมองของผู้ประกอบการต่อภาวะธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 59.3 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากระดับ 60.2 ในไตรมาส 4 ปี 2557 สะท้อนถึงความเชื่อมั่น SME ต่อภาวะธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ทรงตัว โดย SME เกือบร้อยละ 55 ยังมีปัจจัยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันอยู่ ภาพรวมความเชื่อมั่นของ SME ในไตรมาสนี้ ปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เริ่มสำรวจ”นายเบญจรงค์ กล่าวและว่า  แม้ดัชนีดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนถึงภาวะปกติของความเชื่อมั่นทางธุรกิจ จึงมองว่าเป็นสัญญาณบวกสำคัญสำหรับการฟื้นตัวของธุรกิจ SME ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังอยู่ ในขณะที่มุมมองผู้ประกอบการต่อภาวะธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า แม้จะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง

TMB Analytics มองว่า ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคยังขยายตัวต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงดีขึ้นในบางพื้นที่ และการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนประจำปีของภาครัฐที่เร่งตัว ช่วยให้เริ่มมีเงินหมุนกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง ส่งผลความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนั้น ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงทำให้ความกังวลด้านต้นทุนลดลงอย่างชัดเจนจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีภาคการผลิตอุตสาหกรรมสูง

เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกมีความเชื่อมั่นสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แม้ว่าการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนประจำปีทำได้ใกล้เคียงกับภูมิภาคอื่น ส่วนผู้ประกอบการ SME ภาคใต้ มีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อยเพราะภาคเกษตรและประมงมีปัญหาในเวลาเดียวกัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อในพื้นที่ ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนประจำปีก็ไม่ได้เร่งตัวเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในพื้นที่

 

ภาคตะวันออกและภาคกลางเป็นหัวใจของการส่งออกของประเทศไทย ที่แม้การส่งออกจะยังไม่ฟื้น แต่ในไตรมาส 3 จะเป็นฤดูกาลของการส่งออกหากคำสั่งซื้อในไตรมาส 3 เข้ามามากจะทำให้การส่งออกในไตรมาส 4 ดีขึ้น ซึ่งในไตรมาส 2 นี้เป็นช่วงสำคัญที่ภาครัฐควรเร่งผลักดันเงินเข้าสู่เศรษฐกิจให้เร็วที่สุดและกระจายพื้นที่ให้มากที่สุด ก่อนที่แรงส่งจากปัจจัยบวกระยะสั้น เช่น ท่องเที่ยว จะหมดไป โดยควรผลักดันโครงการขนาดเล็ก จำนวนมากและกระจายลงสู่ภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปได้อย่างเร็วที่สุด ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าโครงการขนาดใหญ่ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่แข็งแกร่งเช่นนี้

“เรายังประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 3.5%  แต่การเบิกจ่ายงบในไตรมาส 2  จะเป็นส่วนสำคัญ ในไตรมาสแรกการเบิกจ่ายงบหากเทียบกับ 4 – 5 ปีที่ผ่านมาทำได้น้อย ทำให้การเบิกจ่ายในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณหรือในไตรมาส 2  ตามปีปฏิทินควรจะอยู่ที่ 40 % เพื่อให้เข้าใกล้การเบิกจ่ายงบประมาณที่เหมาะสมคือ 65 – 75 % เพื่อช่วยเป็นแรงส่งให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอีก 2 ไตรมาสที่เหลือของปีสามารถฟื้นตัวได้ แต่หากทำไม่ได้ก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะถัดไปเช่นกัน” นายเบญจรงค์กล่าว

 

 

นายเบญจรงค์กล่าวต่อว่าจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แม้ปัจจุบันรายได้ของธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความกังวลว่าภาวะรายได้ที่ปรับตัวขึ้นนั้นอาจจะไม่ยั่งยืน เนื่องจาก 1.ไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ฟื้น เพราะมองไประยะ 3 เดือนข้างหน้ามองไม่เห็นปัจจัยบวก และ 2.รอปัจจัยใหม่ว่าจะมีอะไรต่อไปที่จะช่วยกระตุ้นหรือหนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัจจัยจากภาครัฐ ทั้งเรื่องความเชื่อมั่นทางการมือง,ความต่อเนื่องนโยบายภาครัฐ และการขับเคลื่อนของภาครัฐ

"ผมยอมรับดัชนีความเชื่อมั่นมีสัญญาณที่ดีขึ้นจริง แต่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติไม่ได้ ต้องมีตัวช่วยหนุนให้ดัชนีขึ้นไปได้ต่อ ซึ่งสิ่งที่ผมกังวล คือ ในภูมิภาค เมื่อเศรษฐก่ิจมีโมเมนตั้มแล้ว ต้องม่ีแรงหนุนต่อ ถ้าสะดุดแล้ว โมเมนตั้มก็จะหยุด โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ถือเป็นปัจจัยบวกมาก่อนในไตรมาสหนึ่ง แต่ไตรมาสสองจะหายไป ฉะนั้นไตรมาสสองเป็นไตรมาสที่สำคัญของทั้งปี เพราะปกติไตรมาสสองจะไม่มีปัจจัยอะไรมาหนุนโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และถ้าไตรมาสสองรายได้ท่องเที่ยวลดลง รัฐจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนไปในภูมิภาคให้มากขึ้นเพื่อชดเชยการท่องเที่ยวที่ลดลง โดยจะต้องเร่งเบิกจ่ายให้มากกว่านี้และให้เม็ดเงินออกไปสู่ภูมิภาค โดยจะต้องขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้เงินลงไปได้เร็ว ถ้าไตรมาสสองนี้ไม่มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค การฟื้้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะไม่เด้ง มันจะค่อยๆไป ไม่มีโมเมนตั้มที่จะช่วยผลักดัน ตัวเลขเศรษฐกิจทุกตัวที่ตั้งเป้าไว้อาจจะพลาดเป้าหมด และโอกาสหลุด 3% มีสูงมาก"นายเบญจรงค์ระบุ

นายเบญจรงค์กล่าวอีกว่า ตัวที่ถือว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เร็ว คือ 1.การเบิกจ่ายภาครัฐ  แต่ต้องลงไปในภูมิภาค ไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพและปริมณฑล และต้องเร่งการเบิกจ่ายให้มากกว่านี้ 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอื่นๆ ที่งบประมาณยังมีอยู่ แต่ต้องมีเป้าหมายเพื่อหนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคในภูมิภาค


บันทึกโดย : วันที่ : 27 เม.ย. 2558 เวลา : 21:22:04
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 3:44 pm