เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"พาณิชย์- ธปท."ยัน ไทยไม่เกิด "เงินฝืด"


ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ยังส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนเม.ย.2558 โดยสะท้อนจากการแถลงอัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนในเมษายน 2558 เท่ากับ 106.35 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2558 สูงขึ้น 0.02% แต่เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2557 ติดลบ 1.04% ซึ่งเป็นการติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2552 โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีก ทั้งน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และราคาหารสดประเภทเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ที่ลดลง

 

ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2558 กระทรวงพาณิชย์ยังคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0.6-1.3% ภายใต้สมมุติฐานน้ำมันดิบดูไบ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3-4% ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

โดยอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน 2558 กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะผู้บริโภคยังมีความต้องการสินค้า อีกทั้งผลจากราคาน้ำมันลดลงก็ส่งผลให้ต้นทุนราคาสินค้าลดลง เชื่อว่าความต้องการสินค้าจะกระเตื้องขึ้นบ้าง และเมื่อเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยยังดีกว่าต่างประเทศ ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งติดต่อกัน ก็ยิ่งจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าของผู้บริโภค เพราะดอกเบี้ยถูกลงกำลังซื้อก็จะมีเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดย นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธปท.แสดงความเห็นถึงอัตราเงินเฟ้อว่า เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2558 ที่ติดลบมากขึ้นเมื่อเทียบกับมีนาคม 2558 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่สูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อนหน้า จากราคาอาหารสำเร็จรูปที่ปรับสูงขึ้น ตามการทยอยลอยตัวของราคา LPG

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลง สะท้อนว่า เศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ และต้องใช้เวลาในการปรับตัว และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด ก็เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นในอนาคต

 


 

อนึ่ง ภาวะเงินฝืด (deflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปลดต่ำลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจาก อุปสงค์รวม มีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะซื้อสินค้าและบริการทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้าเพื่อที่จะ ทำให้ขายได้ และลดการผลิตลงเพราะว่าถ้าผลิตออกมาเท่าเดิมก็ขายได้น้อย ผลที่ตามมาจะก่อให้เกิดผลเลวร้ายต่อเศรษฐกิจเพราะการจ้างงานจะลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะเงินฝืด อำนาจซื้อของบุคคลทั่วไปจะสูงขึ้นด้วย

 

 

เงินฝืด เป็นภาวะตรงข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ มีปัจจัยการเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การเพิ่มขึ้นของอุปทาน การหดตัวของอุปสงค์ การลดลงของต้นทุนจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน หรือมาตรการปรับเพิ่มภาษี และการที่ปริมาณเงินหมุนเวียนมีไม่เพียงพอต่อขนาดของระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น

 


บันทึกโดย : วันที่ : 02 พ.ค. 2558 เวลา : 14:20:24
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 1:07 am