เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
หนี้ครัวเรือนยังน่าห่วงสิ้นปี 57แตะ 79.3%


สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ยังน่าเป็นห่วง แม้รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รายงานว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือน เมื่อสิ้นปี 2557 อยู่ที่ 10.43 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% เป็นการขยายตัวที่ชะลอลงเมื่อเทียบที่ขยายตัว 16.9% 18.0% และ 11.4% แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ 79.3% จาก 75.9% ในปี 2556 และ 71.1% ในปี 2555

 

ส่วนแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1/58 มียอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.6% ชะลอลงเมื่อเทียบกับ 10.7% ของช่วงเดียวกันในปีก่อน และ 7.4% ของปี 2557

ขณะที่หนี้เสียก็ยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใน ไตรมาส 1/58 อยู่ที่ 92,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% หรือคิดเป็น 2.6% ของสินเชื่อรวม ส่วนสินเชื่อที่ค้างการชำระเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 27.4% มาอยู่ที่ 15,469 ล้านบาท และยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 22% มาอยู่ที่ 8,933 ล้านบาท และเป็นสัดส่วน 3.1% ต่อยอดคงค้างรวม


หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

                                                                       2557                  Q1/58
หนี้เพื่อการอุปโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ลบ.)      83,451                92,426
% YOY                                                            16.5                    17.0
สัดส่วนต่อNPLs รวม                                           30.0                    31.0
สัดส่วนต่อสินเชื่อรวม                                           2.4                      2.6


ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ สศช. ยังหวังว่า มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาเพื่อบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งรวมถึงการตั้งนาโนไฟแนนซ์ จะเป็นช่องทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มเห็นความชัดเจนที่มีมากขึ้น

 

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมมองของผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 น่าจะเติบโตได้ไม่เกิน 3% เนื่องจากปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดเศรษฐกิจ รวมทั้งเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล น่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรกว่าจะเห็นผล ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และนักธุรกิจรายเล็ก รายกลาง ให้เพิ่มมากขึ้น

 


LastUpdate 26/05/2558 10:10:44 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 3:20 pm