แบงก์-นอนแบงก์
แบงก์ลดดอกเบี้ยรับลูกกนง.หนุนกระตุ้นเศรษฐกิจ


แบงก์ทยอยปรับลดดอกเบี้ยหลังกนง.หั่นดอกเบี้ยนโยบาย หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมออกมาตรการช่วยเอสเอ็มอี

 

หลังจาก นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ประกาศนำร่องลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท มีผล 21 พฤษภาคม 2558  เพื่อตอบสนองนโยบายการเงิน หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.50% และกระตุ้นให้ภาคธนาคารร่วมมือกันในการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่เศรษฐกิจไทยที่ยังมีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยเริ่มมีธนาคารพาณิชย์ที่ทยอยปรับลดดอกเบี้ยลงแล้วเช่นกัน
 

โดยล่าสุด ธนาคารกรุงไทยปรับลดดอกเบี้ยลง 0.10 – 0.125% มีผลตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ธนาคารกรุงเทพ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.125 – 0.250% ยกเว้นอัตราดอกเบี้ยรายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี(MOR)

ขณะที่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.1-0.125%  ซึ่ง นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่มีโอกาสที่ธนาคารจะทบทวนเป้าสินเชื่อของธุรกิจรายย่อยใหม่จากที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 15 % ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมรายย่อยปีนี้ธนาคารตั้งเป้าเติบโต 30-40%

ด้าน นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาด โดยปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.10% ยกเว้นอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี
     

ทั้งนี้ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า นอกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว  ธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรก 2558 ที่ผ่านมาได้ปล่อยสินเชื่อใหม่กว่า 30,000 ล้านบาท ขยายตัวมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ขณะที่ลูกค้าที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วเป็นจำนวน 17,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารพร้อมอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเติมอีก 30,000 ล้านบาท
      

ทั้งนี้ นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญกับปัญหาในการทำธุรกิจมาโดยตลอด ตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วม ปัญหาทางการเมือง ค่าแรงงานขั้นต่ำ และค่าเงินบาท โดยในปีนี้เศรษฐกิจดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ก็ยังมาเจอกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และหนี้ครัวเรือนที่ทำให้กำลังซื้อในประเทศหดตัว ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีรายได้ลดลง ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระลูกค้าและให้ลูกค้าดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยรูปแบบการช่วยเหลือขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผลกระทบที่ลูกค้าได้รับ ซึ่งธนาคารให้ความช่วยเหลือทั้งการพักชำระเงินต้นและลดดอกเบี้ย
   

ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว 10,115 ราย คิดเป็นยอดวงเงินสินเชื่อ 52,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเข้าไปช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่ลูกค้าจะผิดนัดชำระ โดยมีทั้งลดดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งธนาคารได้พิจารณาลดดอกเบี้ยอย่างเต็มที่สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบหนักเพื่อให้ลูกค้าดำเนินธุรกิจได้ และการพักชำระเงินต้นได้นานสูงสุด 12 เดือน

นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนเงินทุนให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการลงทุนเพิ่มหรือเพิ่มสภาพคล่อง โดยในไตรมาสแรกธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อเพิ่มจำนวน 64,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวกว่า 40% จากไตรมาสสี่ปีที่แล้ว และคาดว่าในไตรมาสสองนี้ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้เท่ากับไตรมาสแรก
          

ธนาคารกสิกรไทย มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกวิกฤตเพื่อให้ธุรกิจเติบโตและอยู่รอดได้ ดังนั้น ธนาคารจึงได้ขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวออกไปจนถึง 31 ตุลาคม 2558


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 พ.ค. 2558 เวลา : 23:30:32
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:19 pm