แบงก์-นอนแบงก์
"บัณฑูร"เชื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มดี หลังลดดอกเบี้ย


"บัณฑูร" เชื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มดีหลังลดดอกเบี้ย รับตลาดทีวีดิจิตัลมีความเสี่ยง แต่ยังไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่ม พร้อมหนุนการค้าไทย-ญี่ปุ่น ลงนามร่วมหอการค้าฯโอซาก้า หนุนเอสเอ็มอีญี่ปุ่นลงทุนในไทย



          

 

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆทยอยลดดอกเบี้ยตามที่ธนาคารกสิกรไทยได้นำร่องไปแล้ว รวมทั้งการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ออกมาต่อเนื่อง เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นได้

ส่วนเรื่องสถานการณ์ทีวีดิจิตัลที่เริ่มมีบางรายขอคืนใบอนุญาต เพราะประสบปัญหาในการทำธุรกิจนั้น ธุรกิจในกลุ่มทีวีดิจิตัลมีความเสี่ยงที่ต้องพึ่งพารายได้จากการโฆษณาเป็นหลัก ที่ผ่านมาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ได้เอื้อต่อธุรกิจนี้มากนัก ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้เป็นการสะท้อนถึงภาพรวมของธุรกิจที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าหากใครสู้ได้ก็สู่ต่อไป รายใดที่ไม่ไหวก็ต้องตัดสินใจ ซึ่งธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มนี้บ้างแต่ยังไม่จำเป็นต้องตั้งสำรอง ทั้งนี้อาจจะมีการทบทวนพฤติกรรมการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ธนาคารต้องทบทวนสม่ำเสมออยู่แล้ว

นายบัณฑูรกล่าวอีกว่า การสนับสนุนการขยายธุรกิจและสร้างความแข็งแกร่งให้เอสเอ็มอีระหว่างไทยและญี่ปุ่น ธนาคารกสิกรไทยได้ลงนามความร่วมมือกับหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซาก้า ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญภายใต้ความดูแลของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะประกอบด้วยการเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการจัดสัมมนาเพื่อสร้างประสบการณ์ความรู้ความร่วมมือในการทำธุรกิจการค้าระหว่างกัน

 

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซาก้าในการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ “Made in Japan Business Matching” ที่ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นครั้งแรกที่ธนาคารจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจในต่างประเทศ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจากไทย ญี่ปุ่น และ พม่า เกิดการจับคู่ธุรกิจถึง 60 คู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่คันไซ ซึ่งประกอบด้วยโอซาก้าและใกล้เคียง มีศักยภาพในการทำธุรกิจกับประเทศไทยสูง

ดังนั้น ความร่วมมือหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซาก้าครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น  ซึ่งหอการค้าฯจะเป็นผู้ประสานงาน และแนะนำให้ลูกค้าเข้าร่วมกิจกรรม โดยพิจารณาจากสถานะทางการเงินก่อนอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังมีการจัดสัมมนาร่วมกับธนาคารพันธมิตรท้องถิ่น เพื่อคัดเลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยคาดว่าภายใน 1 ปี จะมีบริษัทที่ร่วมโครงการ 100 บริษัท มีมูลค่าการค้าไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทย มีเป้าหมายการเป็นธนาคารแห่งเออีซีบวกสาม เพื่อตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมาจากการเปิดเสรีการค้าในภูมิภาคอาเซียน ที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญของภูมิภาค ส่งผลให้ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยที่ธนาคารกสิกรไทยมีจุดแข็งในเรื่องเครือข่าย และเป็นธนาคารที่ดูแลลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสามารถอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถเจรจาธุรกิจกับไทย และประเทศในกลุ่มเออีซีผ่านเครือข่ายพันธมิตรของธนาคารได้อย่างครบวงจร สอดคล้องกับนโยบายไทยบวกหนึ่ง (Thailand Plus one) ของรัฐบาลญี่ปุ่น  

ที่ผ่านมา ธนาคารได้มีการลงนามความร่วมมือกับธนาคารท้องถิ่นญี่ปุ่น 27 แห่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบรวมกิจการ 1 แห่ง และองค์กรอื่นๆ อีก 7 แห่ง อีกทั้งมีทีมงานที่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ 30 คน และพนักงานของธนาคารพันธมิตร 24 คนที่มาศึกษางานในธนาคารกสิกรไทย นอกจากนี้ ยังมีบริการ Japanese Friendly Branch, Call Center, ATM และเอกสารต่างๆ สำหรับลูกค้าชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ซึ่งก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้นในปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ ได้จับคู่ทางธุรกิจให้กับลูกค้าญี่ปุ่น 446 คู่ โดยมีธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง 215 คู่ ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 3,300 ราย และมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ14%



 

 

ด้าน มร.ซูโทมุ  มิยากิ  ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซาก้า กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นได้เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปยังต่างประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนในด้านการค้า การลงทุน และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางธุรกิจ หอการค้าฯโอซาก้าในฐานะองค์กรในการขับเคลื่อนธุรกิจได้ตอบสนองนโยบายภาครัฐและได้สร้างเครือข่ายธุรกิจ และเพื่อเป็นการสนับสนุนการขยายตัวของบริษัทญี่ปุ่นในไทย จึงได้ส่งเจ้าหน้ามาประจำการที่หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้ตอบโจทย์ในการให้การสนับสนุนด้านการเงินสำหรับเอสเอ็มอีในประเทศ อีกทั้งยังสร้างเครือข่ายธุรกิจที่ประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรที่ให้การสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้เอสเอ็มอีญี่ปุ่นได้ขยายกิจการไปต่างประเทศได้

จากข้อมูลของหอการค้าญี่ปุ่น พบว่า มีบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาจัดตั้งและดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้วมากกว่า 7,000 บริษัท แยกตามขนาดของธุรกิจ พบว่าเกือบ 50% เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มีขนาดกลางและเล็ก และในช่วงปี 2548-2553 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด ทั้งนี้ ในภูมิภาคคันไซ ซึ่งคือโอซาก้าและจังหวัดใกล้เคียง มีปริมาณการค้ากับประเทศไทยสูงถึง 54,000 ล้านบาท โดยมียอดการส่งออกไปยังประเทศไทยราว 36,000 ล้านบาท คิดเป็น 47% ของมูลค่ารวมที่ญี่ปุ่นส่งออกไปไทย และยอดการนำเข้าจากประเทศไทย 18,000 ล้านบาท คิดเป็น 37% ของมูลค่ารวมที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย

หอการค้าและอุตสาหรรมโอซาก้าก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2421 เป็นองค์กรภายใต้ความดูแลของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ประกอบการในโอซาก้า มีสมาชิกประกอบด้วยบริษัทหลากหลายประเภท รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี บริษัทเอกชน องค์กรต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองโอซาก้า ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 30,000 บริษัท

 


บันทึกโดย : วันที่ : 28 พ.ค. 2558 เวลา : 01:58:30
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 11:22 am