เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธุรกิจการบินอ่วมไทยติด "ธงแดง" ICAO


แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ปัญหาข้อบกพร่องด้านการบินของไทย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ แต่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ก็ยังขึ้นธงแดงในเว็บไซค์ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไทยยังไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) ภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีสายการบินของไทยรายใดถูกรัฐบาลต่างประเทศสั่งให้ยกเลิกหรือระงับเที่ยวบิน หลังจากประเทศไทยถูกขึ้นสัญลักษณ์ธงแดงบนเว็บไซด์ของ ICAO และต้องยอมรับว่า ปัญหาด้านการบริหารงานด้านการบินของไทยมีมานานแล้ว

 

 

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยที่ไปชี้แจงต่อ ICAO กล่าวว่า หลังจากนี้ไทยจะเดินหน้าแก้ไขปัญหา SSC ตามแนวทาง 3 ระยะ คือ ระยะสั้นจะดำเนินแก้ไขตามแผนการแก้ไข (CAP:Collective. Action Plan) ที่จะเข้าตรวจสอบใบรับรองการบิน (AOC) ของทั้ง 28 สายการบินที่มีเส้นทางบินระหว่างประเทศและจำนวนที่นั่งสูง รวมทั้งสายการบินที่ทำการขนส่งสินค้าในช่วงวันที่ 11 ก.ค.-ต.ค.2558 จากนั้นจะเชิญ ICAO เข้ามาตรวจสอบใหม่ (Re-Audit) ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้

และในเบื้องต้นคงต้องรวบรวมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่จากที่ผ่านมาคงมีเพียงแต่จะไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินและเพิ่มจุดบินสำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศหรือให้บริการแบบเช่าเหมาลำในบางประเทศ ขณะเดียวกัน กรมการบินพลเรือนของสหรัฐ (FAA) จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยในวันที่ 13-17 ก.ค.นี้

 

 

นายธรรศพลฐ์ เบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยถึงกรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศติดสัญลักษณ์ธงแดงหน้าชื่อของประเทศไทยว่า ในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินธุรกิจของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เนื่องจากไม่ได้ให้บริการในเส้นทางการบินที่ยกระดับห้ามบิน แต่จะกระทบในส่วนของสายการบินไทย และแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ซึ่งต้องรอท่าทีของกลุ่มประเทศสมาชิก ICAO และทิศทางต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร คาดว่าหลังจากนี้อีกประมาณ 1 สัปดาห์ จะมีการสรุปทิศทางดำเนินธุรกิจ

 

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวทางกรมการบินพลเรือน (บพ.) ควรเร่งแก้ไขปัญหามาตรฐานความปลอดภัย เนื่องจากมีความเสี่ยงในการทำการบิน และไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้ แม้ว่าจะยังทำการบินได้ตามปกติก็ตาม ซึ่งในส่วนของการบินไทยก็ได้มีการเข้มงวดตรวจมาตรฐานความปลอดภัยแต่ละเที่ยวบิน จากปกติจะโดนสุ่มตรวจมาตรฐานเมื่อบินไปถึงปลายทางเฉลี่ยเดือนละ 3 ครั้ง แต่ปัจจุบันได้รับการสุ่มตรวจเฉลี่ยเดือนละ 50 ครั้ง จึงจำเป็นที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งปลดสถานะดังกล่าวให้เร็วที่สุด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 มิ.ย. 2558 เวลา : 12:51:34
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 8:04 am