แบงก์-นอนแบงก์
ไทยพาณิชย์พร้อมช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม


"ไทยพาณิชย์" เตรียมโปรแกรมบรรเทาปัญหาให้เอสเอ็มอีทุกกลุ่ม ระบุยังเร็วไปที่จะประเมินผลจากสถานการณ์เมอร์ส จับมือ ส.อ.ท. จัดงาน "SCB-FTI Factory Outlet"

 

นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารพยามให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างต่อเนื่อง ด้วยภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ธนาคารตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกค้า โดยได้มีโปรมแกรมที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งการยืดระยะเวลาในการชำระ การปรับลดค่างวด  ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมามีลูกค้าเอสเอ็มอีเข้ามาปรับโปรแกรมการชำระคิดเป็นวงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีกว่า 3 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีปล่อยใหม่อยู่ที่ 3 หมื่นล้าบาทในไตรมาสแรก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยธนาคารพยายามรักษาระดับเอ็นพีแอลไว้ที่ 2.13 % ส่วนแนวโน้มในระยะต่อไปคงต้องดูสถานการณ์โดยรวมในครึ่งปีแรกว่าจะเป็นอย่างไร โดยจะพยายามรักษาคุณภาพสินเชื่อเอาไว้

“ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์เรื่องไวรัสเมอร์สยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบต่อลูกค้าธนาคารในกลุ่มท่องเที่ยว แต่ธนาคารพยายามเข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีในทุกกลุ่ม ซึ่งการช่วยเหลือไม่ได้จำกัดอยู่ที่เอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าอย่างเดียว แต่หมายถึงลูกค้าของเอสเอ็มอีด้วย เพื่อให้การดูแลสามารถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโดยรวมเอ็นพีแอลเกิดขึ้นใหม่นับว่าลดลงไป ขณะที่สินเชื่อก็เริ่มดีขึ้นแล้ว” นายญนน์กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ไวรัสเมอร์ส (MERS ) คือ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจบริการด้านความบันเทิง และธุรกิจร้านอาหาร มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความกังวล แต่สถานการณ์ของไวรัส MERS มีแนวโน้มที่จะระบาดไม่มากนักเมื่อเทียบกับ SARS เพราะการรับมือมีความแตกต่างจากการระบาดของ SARS ในปี 2003 โดยเมื่อครั้ง SARS นั้นใช้เวลาเกือบ 4 เดือนกว่าจะมีการประกาศเป็น global alert

นายญนน์กล่าวอีกว่า ธนาคารได้สนับสนุนทางด้านการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย ผ่านรูปแบบการจัดงานมหกรรมสินค้า “SCB-FTI Factory Outlet” ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 11 มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 200 ร้านค้า คาดว่าการจัดงานในครั้งนี้จะสามารถกระตุ้นรายได้และอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีได้กว่า 18 ล้านบาท จากการขายสินค้าตลอด 5 วัน เพื่อตอกย้ำถึงจุดยืนของธนาคารในการอยู่เคียงข้างและให้ความช่วยเหลือลูกค้าของเราอย่างเต็มที่ในทุกสถานการณ์

 

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)  เป็นกลไกสำคัญที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไม่น้อยไปกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งปัญหาของเอสเอ็มอีประการหนึ่ง คือ การขาดแหล่งเงินทุน และการแข่งขันที่สูง จำเป็นต้องมีช่องทางการตลาดในประเทศที่เหมาะสม เพื่อทดแทนการส่งออกในภาวะการณ์ส่งออกที่ติดลบ พร้อมทั้งการสร้างแบรนด์ให้สินค้าเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

ดังนั้น งานแสดงสินค้า SCB – FTI Factory Outlet  จึงเป็นกิจกรรมอีกรูปแบบหนึ่งในหลายๆ กิจกรรม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมฯ กับธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบความเดือดร้อนในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อีกทั้งยังเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า และยังเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้ประชาสัมพันธ์และเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย อันจะก่อให้เกิดสภาพคล่องทางธุรกิจภายในประเทศมากยิ่งขึ้น

งานแสดงสินค้านี้ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปีที่ผ่านๆ มาประสบผลสำเร็จมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นงานที่ผู้ซื้อและผู้ขายต่างรอคอยติดตามกำหนดการจัดงาน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าการจัดงานของเรา  ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายขึ้นไปตามลำดับ

 

“การจัดงาน SCB – FTI Factory Outlet ครั้งที่ 11 นี้ ได้มีผู้ร่วมออกร้านที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ และสมาชิกสถาบันรหัสสากลสภาอุตสาหกรรมฯ ที่เป็นเอสเอ็มอีทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ รวมถึงลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ที่นำสินค้าจากโรงงานมาจัดจำหน่ายให้แก่ผู้ซื้อโดยตรงในราคาที่เป็นถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป และยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้ซื้อ ผู้บริโภค สามารถทราบรายละเอียดข้อมูลสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ผ่าน Application “SmartBar” ของสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้ใช้งานได้ฟรี เพียงแค่ดาวน์โหลด และสแกนบาร์โค้ดบนสินค้า ข้อมูลสินค้าก็จะแสดงบนมือถือสมาร์ทโฟน โดยมีประโยชน์อย่างมากต่อทั้งเจ้าของสินค้าและผู้บริโภค ซึ่งจะสามารถตรวจสอบข้อมูลของสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ได้ โดยข้อมูลสินค้านั้นๆ เป็นข้อมูลจากเจ้าของสินค้าตัวจริง รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ  เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ฮาลาล (การผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใดๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม) เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นช่องทางสื่อสารและประชาสัมพันธ์สินค้าไปยังลูกค้า เป็นการเพิ่มมูลค่าและความน่าเชื่อถือให้แก่สินค้า ทำให้เพิ่มความมั่นใจในการที่จะซื้อสินค้าและเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้มากขึ้น” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 มิ.ย. 2558 เวลา : 19:57:42
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:18 pm