เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจโลกผันผวน หลังกรีซโหวต "NO"


ในที่สุดชาวกรีซก็มีมติไม่รับมาตรการรัดเข็มขัดของกลุ่มเจ้าหนี้ โดยล่าสุดประชาชนชาวกรีซมีมติโหวต”NO” ซึ่งหมายถึงชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลกรีซ

 

และผลการลงประชามติดังกล่าว ส่งผลให้อนาคตของกรีซในยูโรโซนตกอยู่ในความไม่แน่นอน ซึ่งอาจทำให้กรีซต้องออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน

 

ล่าสุด คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ออกแถลงการณ์ว่า กลุ่มเจ้าหนี้ของกรีซในยูโรโซนจะจัดการประชุมทางไกลในช่วงเช้าวันจันทร์ เพื่อหารือกันหลังจากชาวกรีซตัดสินใจโหวต 'No' เพื่อคัดค้านมาตรการรัดเข็มขัดจากกลุ่มเจ้าหนี้

 

ผลจากการโหวต”NO” ทำให้สกุลเงินยูโรร่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ โดยเงินยูโรร่วงลง 1% แตะระดับ 1.1008 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสกุลเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ เกือบทุกสกุล เนื่องจากความไม่แน่นอนของอนาคตกรีซ ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อเงินเยนซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ทั้งนี้เงินเยนแข็งค่าขึ้น 0.7% แตะที่ 121.93 เยนต่อดอลลาร์ และแข็งค่าขึ้น 1.7% แตะที่ 134.21 เยนต่อยูโร

 

สำหรับผลกระทบที่จะมีต่อไทย รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรเอ็มพีเอ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หรือ เอ็มพีเอนิด้า กล่าวว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น เชื่อว่ามีไม่มากนัก เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกระหว่างไทยและกรีซมีเพียง 0.08% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จึงไม่มีผลกระทบต่อตลาดส่งออกของไทย แต่ในระยะสั้นอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทำให้ตลาดทุนไทยมีความผันผวนบ้าง ดังนั้นนักลงทุนไทยจึงไม่ควรตระหนกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากเกินไป

 

ด้าน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การลงประชามติเรื่องหนี้สินของกรีซ จะมีผลกระทบและความเสี่ยงระยะสั้นต่อระบบการเงินยุโรปและโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคาดว่าเงินดอลลาร์น่าจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เงินยูโรอ่อนค่าลงในอัตราเร่งมากขึ้น เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง เงินทุนจะไหลออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงสู่สินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ

ทั้งนี้ ภาคเอกชนและตลาดการเงินต้องระวังในการลงทุนและติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ภาครัฐควรเพิ่มระดับการเร่งรัดการใช้จ่ายเร็วขึ้น ธปท.ควรเรียกคณะกรรมการธนาคารและคณะกรรมการนโยบายการเงินประชุมพิเศษและควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่า 1%



บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ก.ค. 2558 เวลา : 14:12:34
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 11:59 am